ไทย-ลาว ร่วมผลิตนักสร้างหนังระดับเยาวชน ผลิตภาพยนตร์สั้นสร้างสรรค์ศิลปะ

คิดจะพัก-ไทย -ลาว ร่วมผลิตนักสร้างหนังระดับเยาวชน เปิดกิจกรรมเผยแพร่ด้านการผลิตภาพยนตร์สั้นสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ครั้งที่ ๕ สร้างความร่วมมือ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ปั้นเด็กผลิตภาพยนตร์แบบมืออาชีพ การสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


พิธีเปิดกิจกรรมเผยแพร่แลกเปลี่ยนด้านการผลิตภาพยนตร์สั้นสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ครั้งที่ ๕ (Laos & Esan Short Film Camp 5th) อ้อมกอดหลวงพระบาง โดยมีนายวิทูน สุนดารา หัวหน้ากรมฮูปเงา กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว นายคำสุก แก้ววงซาย รองผอ.สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น นายธนิตย์ จิตนุกูล นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และคณะ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ณ นครหลวงเวียงจันทร์ ศิลปิน คณาจารย์ นักศึกษา นักแสดงและสื่อมวลชน ไทย – ลาว เข้าร่วม ณ มหาลัยวิทยาลัยสุภานุวงศ์ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

กระทรวงวัฒนธรรม ได้สนับสนุนให้มีความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ด้านภาพยนตร์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ความเข้มแข็ง และความสามารถในการแข่งขันได้ของในภูมิภาคอาเซียน  ในด้านความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่าง ประเทศไทย กับ สสป.ลาว นั้น มีความร่วมมือกันมายาวนาน ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เช่น การร่วมสร้างภาพยนตร์เรื่อง “สบายดีหลวงพระบาง” เมื่อปี พ.ศ. 2551 ซึ่งประสบความสำเร็จ เป็นอย่างยิ่งในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวลาว โดยมีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปท่องเที่ยวที่ สปป. ลาวมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือในการส่งภาพยนตร์คุณภาพของ สปป.ลาว มาร่วมจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น


การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จึงถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านภาพยนตร์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ของไทยและสปป.ลาว เป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้สร้างภาพยนตร์ของสองชาติ และการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการร่วมลงทุนระหว่างประเทศในอนาคต นอกจากนี้  ภาพยนตร์ยังเป็นทูตทางวัฒนธรรม สร้างมิตรภาพ  สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  มีบทบาทในการให้ความรู้  ชี้นำแนวคิดในการดำเนินชีวิต รวมถึงกำหนดรูปแบบและทิศทางของคนในสังคม  รวมทั้งเป็นภาษาสากล ที่ทุกคนสามารถเข้าใจเนื้อหาได้แม้จะต่างภาษาและเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้เผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม นำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของแต่ละประเทศ

ดังนั้น  การนำคณะเยาวชนของ ๒ ชาติมาอยู่รวมกันในครั้งนี้ นอกจากจะได้เรียนรู้ทางวิชาการ  ยังได้เรียนรู้เทคนิควิธีการผลิตผลงานที่มีคุณภาพ   และเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ได้ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกัน การทำงานเป็นทีม  รู้จักการนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อรักษา  และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพในอนาคต   และเป็นการปลูกฝังและสร้างค่านิยมในการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อีกด้วย