ททท. STGs สนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการ “30+ Islands Clean Up: So Cool Mission 2025”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการ “30+ Islands Clean Up: So Cool Mission 2025” เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยะทะเล และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน การจัดงานครั้งนี้มีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ  พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “ชาวเกาะ ลด/เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง” /  กิจกรรมเก็บขยะบริเวณชายหาด ป่าชายเลน และแนวปะการัง / นิทรรศการด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง / การมอบอุปกรณ์เก็บขยะที่ผลิตจากขยะรีไซเคิล ในวันที่ 8 มิถุนายน 2568 ณ เกาะช้าง จ.ตราดนอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 9 – 11 มิถุนายน 2568 ยังมีกิจกรรมสัมมนาวิชาการชาวเกาะ ปี 2568  การท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน ประเทศไทย ครั้งที่ 3 : เพื่อเป็นเสวนาเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ในการยกระดับการจัดการเกาะให้สอดคล้องกับเป้าหมายการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals – STGs) เพื่อขับเคลื่อนการจัดการเกาะสู่เป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Islands) ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือ Roadmap และพัฒนาศักยภาพผู้นำเกาะ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวไมซ์ (MICE) ในพื้นที่เกาะของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะและชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะสะสม ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ชายหาด และป่าชายเลน ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ททท. จึงให้การสนับสนุน โครงการ “30+ Islands Clean Up: So Cool Mission 2025” กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2568 ณ เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของททท. ในการเป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยร่วมกับพันธมิตรหลายภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและชุมชนท้องถิ่นยกระดับห่วงโซ่อุปทานให้เกิดการพัฒนามุ่งสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Goals (STGs) อย่างแท้จริง

โครงการดังกล่าวเป็นยกระดับท่องเที่ยวไทยยั่งยืนด้วยภูมิปัญญา เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่เป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืนประเทศไทย (Thailand Sustainable Island Tourism Symposium) ที่ริเริ่มในปี 2566 ณ เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี และดำเนินต่อเนื่องในปี 2567 ที่เกาะลันตา จ.กระบี่ โดยมีผู้นำชุมชนบนเกาะจากทั่วประเทศกว่า 30 แห่ง และองค์กรเครือข่ายอีก 23 หน่วยงาน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนการจัดการทรัพยากรและพัฒนาเกาะอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหัวใจสำคัญของโครงการ  คือ การใช้ภูมิปัญญา เทคโนโลยี และนวัตกรรม มายกระดับการจัดการเกาะสู่เป้าหมาย “คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” รวมถึงการสร้างกลไกความร่วมมือ Roadmap และแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำเกาะของไทย ให้เท่าทันและตั้งรับปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคและโลก และส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว MICE ในพื้นที่การท่องเที่ยวเกาะของประเทศไทยสู่สากล

สำหรับกิจกรรมในปีนี้ เริ่มต้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2568  โดยได้รับเกียรติจากนายณัฐพงษ์สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายจักรกฤษณ์สลักเพชร นายกเทศมนตรีตำบลเกาะช้างใต้ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเปิดงานและลงนามข้อตกลงความรวมมือชาวเกาะวาดวย การลด/เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) จากนั้นจึงเริ่ม กิจกรรมเก็บขยะชายหาด ป่าชายเลนและในแนวปะการัง อย่างพร้อมเพรียงกันของชาวเกาะกว่า 30 แห่ง ต่อมาใน วันที่ 9 มิถุนายน 2568 พบกับกิจกรรมเสวนาภายใต้หัวข้อ “ปลุกพลังรักษ์เกาะ…ส่งต่อพลังสู่คลื่นลูกใหม่” ณ โรงเรียนวัดสลักเพชร และกิจกรรมฟัง–เสียง–ถักสานประชาคมชาวเกาะผู้นำแต่ละเกาะเล่าเกาะผ่านภาพการ์ด พร้อมสรุปผลการประเมินศักยภาพเกาะเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการท่องเที่ยว และทีมมหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่ 10 มิถุนายน 2568 ประกอบด้วยกิจกรรมสัมมนาวิชาการชาวเกาะ เพื่อการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนประเทศ ไทย ครั้งที่ 3 ปีพ.ศ.2568 นิทรรศการแสดงผลงานและนวตกรรมเพื่อการจัดการ เกาะอย่างยั่งยืน และพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ CVTEC เกาะช้าง ระหว่าง เครือข่ายเกาะยั่งยืน ประเทศไทย (Thailand Sustainable Island Alliance) กับ เครือข่ายความร่วมมือ ส่งเสริมการค้า การลงทุน ท่องเที่ยวและไมซ์เส้นทางชายฝั่งทะเล 3 ประเทศ (Cambodia Vietnam Thailand Economic Corridor – CVTEC) และวันที่ 11 มิถุนายน 2568 ปิดท้ายด้วยกิจกรรมเสวนาหัวข้อด้านสิ่งแวดล้อมตามความสนใจของผู้ร่วมงาน 

การมีส่วนร่วมของ ททท. ในครั้งนี้ จะเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวและสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างแข็งแรงและยั่งยืนในอนาคต