วธ.ชูแพรวพราว แสงทอง -ฟิวส์ กิติกร -“รอมแพง” นักเขียน ตัวอย่างสื่อทำดี

คิดจะพัก-วธ.ชูแพรวพราว แสงทอง -ฟิวส์ กิติกร -นักเขียนมือทอง “รอมแพง” แห่งบุพเพสันนิวาส และ พรมหมลิขิต ตัวอย่างสื่อทำดีมีปัง ถอดบทเรียน เคล็ดลับผู้ผลิตสื่อมือทองหลากหลายสาขา เชิญชวนเยาวชนร่วมพลังผลิตสื่อสร้างสรรค์สู่สังคม

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานสร้างการมีส่วนร่วมในการรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) ในมิติทางวัฒนธรรม เสวนาถอดบทเรียน “พลังสื่อสร้างสรรค์ ทำดีมีปัง” ณ หอศิลป์แห่งชาติ รัชดา ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีเสรีภาพสูงในการกำหนดเนื้อหาและรูปแบบการใช้สื่อตามที่ต้องการ ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดการใช้สื่ออย่างไม่เหมาะสมและขาดวิจารณญาณ ด้วยการผลิตซ้ำหรือทำตามกระแสต่าง ๆ โดยขาด การยั้งคิด กลั่นกรอง ตระหนักถึงผลดีผลเสีย ก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย เช่น สุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมถึงผลกระทบด้าน ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมวิถีชีวิตอันดีงาม

นางยุพา กล่าวต่อไปว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมในมิติทางวัฒนธรรม ในการรณรงค์ให้ประชาชนและเยาวชน ซึมซับและใช้วัฒนธรรมเป็นหลักในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง จึงได้กำหนดจัดงานสร้างการมีส่วนร่วมในการรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) ในมิติทางวัฒนธรรม เสวนาถอดบทเรียน “พลังสื่อสร้างสรรค์ ทำดีมีปัง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและให้ความรู้กับประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคม ในการรู้เท่าทันสังคมโลกและสามารถเลือกสรรกลั่นกรองนำมาปรับใช้สำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน

ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติวัฒนธรรมให้แก่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม กับกิจกรรม เสวนาถอดบทเรียน “พลังสื่อสร้างสรรค์ ทำดีมีปัง” โดยมีการเชิญนักร้อง แพรวพราว แสงทอง หมอลำไอดอล  นักแสดงและนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง   ฟิวส์ กิติกร นักเขียนมือทอง  รอมแพง  นักประพันธ์ละครที่โด่งดังจากเรื่อง บุพเพสันนิวาส และ พรมหมลิขิต (กระแสจักรวาลออเจ้าสุดฮิตในขณะนี้) รวมถึงนักวิชาการด้านต่างๆ อาทิ  ด้านจิตวิทยา  และด้านนิเทศศาสตร์  เป็นต้น  เพื่อให้เด็ก เยาวชน และผู้ที่มีความสนใจด้านสื่อ มีความรู้ความเข้าใจในการรู้เท่าทันสื่อ ฟังเคล็ดลับดีๆในการสร้างสรรค์สื่อแขนงต่างๆ  จากการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน 

ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าวได้เชิญชวน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และเครือข่ายวัฒนธรรมจาก 76 จังหวัดทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เครือข่ายเด็กและเยาวชน และภาคประชาชน ผู้สนใจสามารถรับชมเนื้อหาย้อนหลังได้ที่ เพจกระทรวงวัฒนธรรม หรือ  https://www.facebook.com/ThaiMCulture/videos/729827465201695/