คิดจะพัก – เรื่องเล่าวันนี้ ผู้ใหญ่ใจดี นำทีมโดยคุณชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ พาไปเปิดประสบการณ์เส้นทางสายอาร์ตที่ต้องร้อง ว้าว! ไม่ว่าจะเป็น Metro Art: The Inspiring District อาร์ตสเปซแห่งใหม่ใจกลางเมือง ที่ MRT พหลโยธิน ต่อด้วยกิจกรรม Walking Bangkok “เที่ยวเส้นทางสายART ด้วยรถไฟฟ้า MRT” ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยังสถานีบางขุนนนท์ เพื่อชมความอาร์ทในในยุคเก่า ไม่ว่าจะเป็น วัดสุวรรณารามราชวรวิหารหรือชื่อเดิมคือวัดทอง ตลาดไร้คาน โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา (ขันลงหินบ้านบุ) หัวโขนลูกพระพาย ทุกหมุดหมายอยู่ในเส้นทางเที่ยวชม ชุมชนบ้านบุ ย่านบางกอกน้อย จรัญฯ32 จากนั้นนั่ง MRT ไปต่อวัดมังกร ขอพรโชคลาภ สุขภาพ ความรัก ปิดท้ายด้วยการเดินเที่ยวย่านเยาวราชยามค่ำ สุดฟิน…ห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด

สถานีพหลโยธิน…จุด CheckPoint ใหม่ Metro Art ห้ามพลาด!
Metro Art อาร์ตสเปซแห่งใหม่ใจกลางเมือง ที่ MRT พหลโยธิน กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ Metro Art เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 มกราคม 2566 โดยมีไฮไลต์สำคัญคือการจัดแสดงงานของศิลปินคนดัง ทั้งแนวโมเดิร์นอาร์ตและแนวคลาสสิค ที่หาชมได้ยากสับเปลี่ยนไปทุกๆ เดือน

โดย 2 ศิลปินคนดังกลุ่มแรกได้แก่ PRJ และ The Jum นับเป็นผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจที่ต้องไปค้นหาด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมศิลปะอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Art Learning Centre หรือ ศูนย์การเรียนรู้ทางศิลปะ …สายอาร์ตพลาดไม่ได้

สถานีบางขุนนนท์ …เยี่ยมชมชุมชนบ้านบุ
ช่วงบ่ายเดินทาง “เที่ยวเส้นทางสายART ด้วยรถไฟฟ้า MRT” ไปยังสถานีบางขุนนนท์ เริ่มกิจกรรม Walking Bangkok ไปยังชมชุมชนบ้านบุ ซึ่งจะนำเสนอในแต่ละสถานที่ตามเส้นทาง หากท่านใดมีโอกาสและเวลาต้องไม่พลาดเส้นทางท่องเที่ยวสายนี้ เพราะมีสถานที่เก่าแก่ยุคโบราณ ความงาม และจิตรกรรม ปติมากรรมให้ได้เรียนรู้มากมาย…

จิตรกรรมฝาผนัง…วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร (เดิมชื่อ วัดทอง)
ชมภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถด้วย มีงานของหลวงวิจิตรเจษฎา (ทองอยู่) ผู้เขียนเนมิราชชาดก กับหลวงเสนีย์บริรัษ์ (คงแป๊ะ) ผู้เขียนมโหสถขาดก ซึ่งเป็นจิตรกรขึ้นชื่อในยุครัชกาลที่ 3 โดยทั้งคู่เขียนด้วยการประชันกัน โดยใช้ผ้าคลุมและเปิดออกเผยให้เห็นเมื่องานเสร็จแล้ว นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังในยุครัตนโกสินทร์ที่สวยงาม มีความละเอียดอ่อนของลายเส้นและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และมีความสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
ความเชื่อ: ผู้คนมักจะมาบนในเรื่องการเกณฑ์ทหาร ครั้นเมื่อได้สมปรารถนาก็จะมาแก้บนด้วยการขี่ม้า(เท่าจำนวนที่บน)รอบพระอุโบสถ นอกเขตเสมา (ปัจจุบันปรับเปลี่ยนจากม้าจริงเป็นม้าก้านกล้วย หรือผ้าขาวม้าแทน)…ความเชื่อส่วนบุคคล

วิถีชุมชน…โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา (ขันลงหินบ้านบุ)
ขันลงหินบ้านบุ เป็นเครื่องใช้โลหะผสมที่ทำด้วยฝีมือการตีแผ่โลหะผสมให้แบนเพื่อขึ้นรูปทรงขันแล้วขัดผิวให้เรียบเกลี้ยงด้วยหิน จึงเรียกว่า “ขันลงหิน” เป็นการสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาการช่างจากสมัยอยุธยา หนึ่งเดียวในไทย “ขันลงหินบ้านบุ” สินค้าระดับ 5 ดาว ที่นิยมนำไปเป็นของตกแต่งบ้านหรือของที่ระลึก ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการชั้นสูง เพราะขั้นตอนการทำยาก ใช้วัตถุดิบชั้นดี และประณีต ปัจจุบันโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา เป็นบ้านสุดท้ายที่ยังคงประกอบอาชีพนี้ …ต้องแวะไปค่ะ


หัวโขนลูกพระพาย
ถัดจากบ้านขันลงหินบ้านบุ เข้าไปอีกนิดเราจะพบกับบ้าน หัวโขนลูกพระพาย ได้รู้จักวิธีการ ขั้นตอนการทำหัวโขนจำลองกันพอสังเขป ทั้งนี้ งานศิลปะบนหัวโขนจำลอง หรือเรียกแบบง่ายๆ ทำให้ดูน่ารักมากขึ้นก็คือ “หัวโขนจิ๋ว” เป็นอีกหนึ่งศิลปะแห่งชุมชนบ้านบุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักชุมชนบ้านบุมากยิ่งขึ้น

หากใครที่มีเวลา มีโอกาสแนะนำว่าต้องแวะไปชม และเรียนรู้ เพื่อเข้าถึง เข้าใจในงานปั้น งานระบายสี นอกจากนี้ บ้านหัวโขนลูกพระพาย ยังมีกิจกรรมเวิล์กชอป ซึ่งจะสอนถึงขั้นตอน และวิธีการทำหัวโขนจิ๋วอีกด้วย …โขนไทยมรดกโลกแห่งความภาคภูมิใจของสยามเมืองยิ้ม (พิกัดชุมชนบ้านบุปากซอย3 ริมคลองบางกอกน้อย จรัญฯ32 FB:หัวโขนลูกพระพาย หรือสอบถามเพิ่มเติมที่โทรศัพท์ 0846818382)

ชมตลาดไร้คาน (ตลาดวัดทอง)
หลังจากเรียนรู้ ดูความจิ๋วของหัวโขนจำลองกันแล้ว พวกเราก็เดินย้อนกลับมาในเส้นทางเดิม และไม่พลาดแวะชมตลาดไร้คาน ตลาดที่มีความงามทางด้านสถาปัตยกรรมโบราณ โคลงสร้างไม่มีคาน สันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า 80 ปี เดิมทีเป็นตลาดกลางขายสินค้าอาหารสดจำพวกผัก ปลา เนื้อ และหมู ปัจจุบันไม่มีการเปิดขายแล้ว แต่ยังคงเป็นสถานที่ซึ่งอนุรักษ์ไว้เป็นจุดแวะพัก แวะถ่ายภาพของนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชนบ้านบุ

สถานีต่อไป…สถานีวัดมังกร
จบจากการเดินเที่ยวชุมชนเก่าบ้านบุ ย่านบางกอกน้อย หรืออีกมุมหนึ่งของเรื่องเล่าขานคือตำนานโกโบริ (ประวัติศาสตร์มีเรื่องเล่า) พวกเราก็นั่งรถไฟฟ้า MRT ไปยังสถานีวัดมังกร เพื่อเยี่ยมชม วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) หรือเรียกสั้นๆ ว่าวัดมังกร

เนื่องจากพวกเราไปถึงในเวลาเกือบค่ำ ความคึกคักของนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้าไปกราบไหว้ขอพรมีไม่มากนัก แต่เชื่อว่าช่วงตรุษจีนปีนี้ วัดมังกรแห่งนี้จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว และผู้มีจิตศรัทธา ที่เข้าไปไหว้พระ ไหว้เจ้า ขอพร เสริมสิริมงคล รวมถึงสะเดาะเคราะห์แก้ปีชง ซึ่งในปีนี้ จะทำได้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมเป็นต้นไป (ไกด์ว่านั้น)…ใครชง ต้องไป (ความเชื่อส่วนบุคคล)

แสงสีราตรีเยาวราช…ไชนาทาวน์ กรุงเทพฯ
พวกเราเดินจากวัดมังกรผ่านเส้นทาง “ถนนมังกร” ไปวงเวียนโอเดียน เพื่อชมความสวยงามของการประดับไฟตกแต่ง เพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ภายใต้แนวคิด “สิริมงคล รุ่งเรือง โชคดี ปีกระต่า” ณ บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 พระชนมพรรษา (วงเวียนโอเดียน) และถนนเยาวราช


ขอพรขอพลังฟ้าดิน ที่ประตูมังกร (วงเวียนโอเดียน)
เล่าว่า…ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 พระชนมพรรษา คือจุดเริ่มต้นของ หัวมังกร ส่วนท้องมังกรอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราช ที่เต็มไปด้วยร้านทอง(132ร้าน) และร้านอาหารมากมาย เสมือนเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนหางมังกรจะอยู่ที่ปลายถนนบริเวณจุดตัดกับถนนจักรเพชร หรือบริเวณห้างเมอรี่คิง วังบูรพา (เก่า)

วิธีขอพร (ไกด์กระซิบบอก)… ให้ยืนตรงจุดที่เรียกว่าดิน ซึ่งศีรษะจะตรงกับฟ้า (ด้านบนคานประตู) พนมมือแล้วยืนหันหน้าไปทางหลวงพ่อทองคำ (วัดไตรมิตร) ซึ่งเป็นทิศแรกเพื่อกล่าวคำขอพร(นึกใจในก็ได้)… ข้าพเจ้าชื่อ-นามสุกล… อยู่บ้านเลขที่… วันนี้ขอพรเรื่อง… จากนั้นก็หันหน้าไปทิศที่ 2 3 และ 4 (เวียนขวา) พร้อมขอพรในแต่ละทิศ จนจบครบทั้ง 4 ทิศ (4 เสาของประตู)…ความเชื่อส่วนบุคคล

บอกเลยว่า… วันนี้เราเป็นทั้งสายมู สายศิลป์ และสายกิน แต่สายเที่ยวเรายังเหนียวแน่น เที่ยวได้ตามใจที่พาไป พร้อมที่จะเก็บความสวยงาม ความประทับใจ มาฝากทุกท่านในทุกโอกาสที่พบเจอ…ลองตามไปเที่ยวกันนะคะ