กรมการศาสนา ได้ดำเนินนโยบายร่วมกับองค์การศาสนา 5 ศาสนาจัดโครงการเทศกาลประเพณีทางศาสนา 5 ศาสนา ประกอบด้วย กิจกรรม “เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด” ของศาสนาพุทธ “วันอาซูรอสัมพันธ์” ของศาสนาอิสลาม “เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส” ของศาสนาคริสต์“เทศกาลนวราตรี”, “เทศกาลดิวาลี” ของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และ “วันครบรอบ 555 ปี วันคล้ายวันประสูติคุรุนานักซาฮิบ องค์ปฐมศาสดา” ของศาสนาซิกข์ เพื่อส่งเสริม Soft Power ในมิติศาสนา 5 ศาสนา สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติศาสนา เสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคง และสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนิกชนส่งผลให้เกิดความสงบสันติสุขของสังคม ศาสนิกชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีสืบต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวต่อไปว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ร่วมกับวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศาสนสถานในการกำกับดูแลของสำนักพราหมณ์พระราชครู ในสำนักพระราชวัง องค์การทางศาสนาศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ที่กรมการศาสนาให้การรับรอง จัดงานเทศกาลนวราตรีระหว่างวันที่ 2 – 14 ตุลาคม 2567 โดยเทศกาลดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ศาสนิกชนชาวฮินดูบูชาพระแม่อุมาเทวี จากความเชื่อตามตำนานที่พระแม่อุมาเทวี ได้ปราบอสูรที่ชื่อว่า “มหิษาสูร” ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่ว เหล่าทวยเทพจึงอัญเชิญพระแม่อุมาเทวีในร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา” ซึ่งสู้รบกับมหิษาสูรตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน และปราบลงได้สำเร็จในวันที่ 10 ศาสนิกชนจึงได้จัดพิธีขึ้นเพื่อบูชาพระแม่อุมาเทวีในชัยชนะครั้งนี้ และในวันที่ 10 คือ วันสุดท้ายของเทศกาล เรียกว่า “วันวิชัยทศมิ” หรือ “วันรามนวมี” อันมีความหมายถึงวันเฉลิมฉลองในชัยชนะในคืนที่สิบซึ่งแสดงถึงธรรมะที่สามารถชนะอธรรม และการมีปัญญา ศาสนิกชนจะมีการนำเทวรูปพระแม่อุมาเทวีและเทวรูปอื่นๆ ขึ้นขบวนแห่ไปบนเส้นทางเพื่อรับบารมีจากองค์เทพในคืนนี้ ตลอดเทศกาลศาสนิกชนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ สวยงาม เต้นรำ ร้องเพลง และเฉลิมฉลองกันตลอดทั้งวันทั้งคืน
ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าว ยังมีการจัดกิจกรรมบูชาองค์เทพที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ที่เป็นที่เคารพนับถือของศาสนิกชน ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญซึ่งเป็นไปตามลำดับวันในพิธี ตามกำหนดการดังนี้
วันที่ 2 ต.ค. 67 เป็นวันก่อนเริ่มงานเทศกาลนวราตรี มีพิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ตามคติฮินดูที่ว่า ก่อนเริ่มบูชาเทพทุกองค์ต้องเริ่มบูชาจากองค์พระพิฆเนศวรก่อนเสมอ ต่อมาในช่วงบ่ายถึงค่ำ เป็นพิธีบูชาเทพประจำแผ่นดิน และเทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า เพื่อขอจัดงานนวราตรีประจำปี 2567
เมื่อกำหนดการทั้งหมดเสร็จสิ้น จะมีพิธีบูชาพระแม่ทั้ง 3 ตลอดทั้งวันเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
วันที่ 3 ต.ค. 67 เริ่มงานเทศกาลนวราตรี ประจำปี พ.ศ. 2567 มีพิธีอัญเชิญธงสิงห์ขึ้นเสา
วันที่ 4 – 5 ต.ค. 67 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคาเทวี เทพแห่งอำนาจ บารมี
วันที่ 6 – 8 ต.ค. 67 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมีเทวี เทพแห่งความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์
ที่สำคัญ ในวันที่ 9 ต.ค. 67 พิธีสยุมพรองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ เป็นพิธีอภิเษกสมรสขององค์เทพ ซึ่งจะมีการจัดรูปแบบของขบวนขันหมากและพิธีอภิเษกตามความเชื่อของศาสนาฮินดู โดยจัดเพียง 1 ครั้งในรอบปีเท่านั้น จึงเป็นพิธีกรรมที่ได้รับความสนใจจากศาสนิกชน และคู่รักหรือคู่ครองที่จะมาขอพรเพื่อการแต่งงาน และการสมหวังในความรัก โดยในปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาได้รับเชิญร่วมในพิธีการสำคัญนี้อีกด้วย และศาสนิกชนที่เข้าร่วมในพิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี และองค์พระศิวะมหาเทพจะได้ร่วมในขบวนแห่ขันหมาก ซึ่งประกอบด้วยขนมมงคลบนถาดบูชาสำหรับถวายองค์เทพ โดยเมื่อจบพิธีศาสนิกชนสามารถนำกลับไปรับประทานเพื่อสิริมงคลได้
วันที่ 10 ต.ค. 67 พิธีบูชาพระแม่มหาสรัสวตีเทวี เทพแห่งศิลปวิทยาการ พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี และองค์พระศิวะมหาเทพ
วันที่ 11 ต.ค. 67 พิธีบูชาพระแม่มหาสรัสวตีเทวี เทพแห่งศิลปวิทยาการ
ในวันที่ 12 ต.ค. 67 งานแห่วันวิชัยทัศมิ ประจำปี 2567 อีกหนึ่งพิธีกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ถือเป็นการแห่เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ในภาคพระแม่ทุรคา ที่มีชัยต่อมหิษาสูรตามตำนาน ซึ่งในขบวนแห่ดังกล่าว ประกอบด้วยรถแห่ จำนวน 8 ขบวน คือ ขบวนคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ขบวนคนทรงองค์พระขันธกุมาร ขบวนคนทรงองค์พระแม่กาลี ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศวร ขบวนราชรถองค์พระขันธกุมาร ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะขบวนราชรถองค์พระกัตตวรายัน และขบวนราชรถองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตีโดยขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม)
และวันที่ 14 ต.ค. 67 พิธีอัญเชิญธงสิงห์ลง และพิธีอาบน้ำคณะพราหมณ์และคณะคนทรง ซึ่งหลังจาก
เสร็จพิธีคณะพราหมณ์จะนำสายสิญจน์ที่ผ่านการทำพิธีตลอดทั้ง 10 วัน มาผูกข้อมือให้แก่สานุศิษย์ผู้ศรัทธา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการเทศกาลประเพณีทางศาสนา 5 ศาสนา ภายใต้การจัดกิจกรรมเทศกาลของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เป็นการส่งเสริมให้ศาสนิกชนได้ปฏิบัติศาสนกิจตามศาสนา อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันศาสนาให้เป็นเสาหลักที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณธรรม ศาสนิกชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีสืบต่อไป ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติทางศาสนา เป็นการยกระดับเทศกาลประเพณีให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และก่อให้เกิดความศรัทธาและความเชื่อ โดยการบูชาสิ่งที่เป็นวัตถุมงคล และของที่ระลึก ที่จะช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการในการขายสินค้า และบริการต่าง ๆ ก่อให้เกิด สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในมิติศาสนา ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนทั้งนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมงานยังได้รับหลักธรรมสอนใจจากพระแม่ทุรคาในด้านการชำระล้างจิตใจ ให้บริสุทธิ์ 6 ประการ เพื่อเอาชนะสิ่งอกุศล และอธรรม ด้วยการรู้จักตนเอง
สำหรับข้อควรปฏิบัติในการเข้าร่วมงานนวราตรี และงานแห่วันวิชัยทัสมิ ควรแต่งกายด้วยชุดที่สุภาพ สีสันสดใส หลีกเลี่ยงสีโทนดำ ม่วง หรือน้ำเงินเข้ม เนื่องจากเป็นงานมงคล และโปรดระวังโจรล้วงกระเป๋าหรือกรีดกระเป๋า ส่วนการเดินทางมาเข้าร่วมงาน แนะนำให้เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ เนื่องจากห้ามจอดรถริมฟุตบาทตลอดเส้นทางที่ขบวนแห่ผ่าน งานนวราตรี เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญทางศาสนาฮินดู ศาสนิกชนสามารถเดินทางเข้ามาร่วมพิธีได้โดยไม่มีการจำกัดเชื้อชาติหรือศาสนา โดยเชื่อว่าจะช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตของตนเองและครอบครัวด้วย