คิดจะพัก-ประเพณีชักพระวัดนางชี เป็นประเพณีสำคัญที่ทำสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นงานบุญประจำปีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แสดงออกถึงงานประเพณีทางศาสนา ที่ชุมชนชาวน้ำทำกิจกรรมร่วมกัน ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ”
การจัดงานประเพณีชักพระวัดนางชี ถือเป็นงานชักพระแห่งเดียวที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกขึ้นประดิษฐานบนบุษบก ซึ่งแตกต่างไปจากงานชักพระในพื้นที่อื่น ที่อัญเชิญพระพุทธรูป ซึ่งจัดทำกันในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษา แต่การจัดงานประเพณีชักพระวัดนางชีจะจัดในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 มีจุดประสงค์เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ และสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมไปถึงความเชื่อว่าถ้าปีใดไม่มีการจัดประเพณีชักพระขึ้นจะเกิดอาเพศขึ้นในชุมชนชาวบ้านจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือภัยพิบัติต่าง ๆ
ประเพณีชักพระวัดนางชีถือเป็นงานเทศกาลประจำปีของชาวฝั่งธนบุรี ในอดีตจะมีขบวนเรือชาวบ้านมาร่วมพิธีจำนวนมาก มีทั้งเรือศิลปะการแสดง เรือการละเล่นพื้นบ้าน และเรือชาวบ้านที่มารอสรงน้ำพระ คำว่า “ชักพระ” นั้น มาจากการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้บนเรือพิธี ที่เรียกว่า “เรือองค์พระ” หรือ “เรือพระ” และแห่ไปทางน้ำ
ในอดีตจะมีชาวบ้านและผู้เลื่อมใสศรัทธา จะร่วมแรงร่วมใจกันนำเรือมาฉุดชักเรือพระแห่ไปตามลำคลอง โดยมีเส้นทางแห่เริ่มจากคลองด่าน คลองบางกอกใหญ่ คลองชักพระ คลองบางกอกน้อย เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา วกกลับเข้าคลองบางกอกใหญ่บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางกอกใหญ่ (วัดกัลยาณมิตร) และเลี้ยวซ้ายกลับเข้าคลองด่าน เพื่อกลับไปยังวัดนางชี ลักษณะการแห่ดังกล่าวเป็นการวนขวา (ทักษิณาวรรต) ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “แห่อ้อมเกาะ”
บรรยากาศประเพณีชักพระวัดนางชีปีนี้2566 จัดขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 โดยขบวนแห่เรืออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกเดินทางทางน้ำจากวัดนางชี เขตภาษีเจริญ ไปยังสำนักงานเขตตลิ่งชัน โดยใช้เส้นทางคลองด่าน ผ่านคลองบางกอกใหญ่ เข้าคลองชักพระ สิ้นสุดที่สำนักงานเขตตลิ่งชันสำหรับเที่ยวกลับ ขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกเดินทางจากสำนักงานเขตตลิ่งชัน ไปตามคลองบางกอกน้อย ออกแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางหลวง