×

 “เทศกาลเที่ยวพิมาย ประจำปี 2566” เรือยาวประเพณี ชิงถ้วยพระราชทาน

 “เทศกาลเที่ยวพิมาย ประจำปี 2566” เรือยาวประเพณี ชิงถ้วยพระราชทาน

คิดจะพัก-นางสาวสุดาวรรณ  หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางเข้าร่วมงาน “เทศกาลเที่ยวพิมาย ประจำปี 2566” ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีพร้อมส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ พร้อมกันนี้ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณี ชิงชนะเลิศถ้วยพระทานฯ และเปิดการแสดง แสง สี เสียง ชุด “ศรัทธาแห่งพิมาย” โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และนางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. ให้การต้อนรับ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า งาน “เทศกาลเที่ยวพิมาย ประจำปี 2566” เป็นงานประเพณีสำคัญของจังหวัดนครราชสีมาที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ททท. และหน่วยงานท้องถิ่น ในวันที่ 8 – 12 พฤศจิกายน 2566 โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมมากมาย อาทิ การจำหน่ายอาหารท้องถิ่น การจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ การจำหน่ายสินค้า OTOP และแสดง แสง สี เสียง ชุด “ศรัทธาแห่งพิมาย”

สำหรับการแข่งขันเรือยาวประเพณี ชิงชนะเลิศถ้วยพระทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นมงคลเกียรติยศแก่ชาวพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อย่างยิ่ง รวมถึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสมัครสมานสามัคคีและร่วมกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษ โดยในปีนี้มีเรือเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 40 ลำ ประกอบด้วย เรือยาว 40 ฝีพาย 30 ฝีพาย และ 20 ฝีพาย แข่งกันในลำน้ำจักราช ซึ่งเป็นลำน้ำที่ได้มาตรฐานการแข่งขันเรือยาวของประเทศไทย

อำเภอพิมายนับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และยังเป็นที่ตั้งของปราสาทหินพิมายซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมและทางการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมาและของประเทศไทย การที่หน่วยงานท้องถิ่นได้ร่วมมือกันจัดงานเทศกาลเที่ยวพิมายขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชาวโคราช กระตุ้นการเดินทาง กระจายรายได้สู่ประชาชน และจะช่วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมาให้เติบโตและเป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไปได้อย่างแน่นอน

You May Have Missed