คิดจะพัก-วันหยุดสบาย ออกไปทำบุญ และท่องเที่ยวใน1 วัน ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ได้บุญ อิ่มใจ อิ่มท้อง สบายตา ผ่อนคลาย

“วัดจุฬามณี” หนึ่งในวัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาหลายร้อยปีของ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากคนไทยจำนวนมากนิยมเดินทางไปไหว้สักการะ “ท้าวเวสสุวรรณ” และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด เพื่อขอพรเรื่องต่างๆ ตามความเชื่อส่วนบุคคล




วัดจุฬามณี สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2172–2190 ผู้สร้างคือ ท้าวแก้วผลึก (น้อย) ธิดาของท่านพลาย นายตลาดบางช้างผู้ทำหน้าที่เก็บภาษีอากร ซึ่งต่อมาเป็นต้นราชนิกุลบางช้าง

ในอดีตวัดจุฬามณีเคยเป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือภาษาไทยและภาษาขอม แต่ภายหลังการมรณภาพของเจ้าอาวาส “ท่านพระอธิการเนียม” ใน พ.ศ. 2459 วัดแห่งนี้ก็มีพระจำพรรษาไม่กี่รูป สภาพวัดค่อนข้างร้างและเสื่อมโทรม
จนกระทั่งกำนันบางช้าง ได้ขออาราธนา “พระอาจารย์แช่ม โสฬส” ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางกะพ้อม ต.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดจุฬามณี โดยมีการบูรณะวัด ปรับปรุงไม่ให้เสื่อมโทรม พร้อมทั้งปลูกสร้างศาลาการเปรียญแห่งใหม่ ทำให้วัดจุฬามณีกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

อัมพวา เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งอำเภออัมพวาเป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดของจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีประวัติเมื่อก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ไม่มากนักต่อมาเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2310 ผู้คนอพยพมาอยู่กันมากขึ้น เพราะมีทำเลเหมาะแก่การเพาะปลูกและเป็นที่อยู่อาศัย




ตามหลักฐานที่พอจะค้นคว้าได้นั้น ปรากฏว่า ทึ่ว่าการอำเภออัมพวาในอดีตได้อาศัยศาลาการเปรียญของวัดอัมพวันเจติยาราม ต่อมาได้ย้ายข้ามคลองอัมพวาไปอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดท้ายตลาด ตำบลบางกะพ้อม ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่เดิมไปประมาณ 400 เมตร และได้ย้ายมาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองมาจนทุกวันนี้ และคงใช้ชื่ออัมพวา เพราะบริเวณนี้เดิมเป็นเรือกสวน มีต้นมะพร้าว และต้นมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมาก ต้นมะพร้าวนั้นเป็นพืชหลักของสมุทรสงครามและมีอยู่ทั่วไป ส่วนต้นมะม่วงมีการปลูกอยู่อย่างหนาแน่นที่บริเวณนี้ จึงใช้ชื่ออัมพวามาตลอด