ปราสาทวัดพู มรดกโลกแห่งที่สองของลาว ที่น่ามาเยือน

คิดจะพัก-ปราสาทวัดพู เป็นโบราณสถานในประเทศลาว ซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งที่สองของประเทศลาว ตั้งอยู่ใน นครจำปาสัก ของลาวตอนใต้  เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้น ในสมัยของขอมเรืองอำนาจ ลักษณะของปราสาทเป็นเทวสถานขอม คล้ายกับเขาพระวิหาร ตั้งอยุ๋บริเวณ เขาศิวบรรพต หรือ ที่ชาวลาวเรียกว่า ภูเกล้า นั่นเอง

เป็นภูเขาที่มียอดลักษณะคล้ายๆศิวลึงค์ ซึ่งเรียกศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นว่า สวยัมภูวลึงค์ ด้วยเหตุที่เขาศิวบรรพตนั้น คล้ายกับศิวลึงค์ น่าจะเป็นแรงจูงใจในการสร้างเทวาลัย เพื่อประดิษฐานรูปเคารพตามความเชื่อฮินดูขึ้นในที่สุด ปราสาทวัดพูนั้นมีฐานะถึงขั้นเป็นอารามหลวงของอาณาจักรในสมัยนั้น และสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยของพระเจ้ามเหนทรวรมัน โดยพระยากัมมะธา ถือว่าเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ซึ่งสร้างมาก่อน เขาพระวิหาร และ พนมรุ้ง ผู้ก่อสร้าง น่าจะอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน และ สืบเชื้อสายต่อๆกันมา ปราสาทวัดพู ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตร เมื่อเดินทางมาถึงวัดพู จากที่จอดรถทางด้านหน้า ก็จะมีชาวบ้านขายของเล็กๆน้อยๆ จากนั้น ก็จะเป็นที่ขายตั๋วเข้าชม ซึ่งในภาษาลาว คำว่าตั๋ว จะเรียกว่า ปี้ ถ้าพนักงานถามว่า มีปี้หรือยัง ก็อย่าตกใจนะครับ เขาถามว่ามีตั๋วเข้าชมหรือยังนะ เมื่อเสียค่าปี้แล้วเดินผ่านประตูทางเข้าเราต้องนั่งรถที่เขาจัดไว้ให้ ในบริ้วณที่เรารอรถจะมีพิพิธภัณฑ์ ของตัวปราสาท

มาถึงตอนเดินเที่ยวปราสาทวัดพู ที่เราเห็นเป็นอย่างแรกนั้น ก็คือ ทางดำเนินที่ต้อนรับด้วยเสานางเรียงหลายต้นขนาบข้าง เดินไปสู่พลับพลาหลังใหญ่ 2 หลังที่ขนาบทางเดินทั้ง ซ้ายและขวาและมีต้นตาล 2 ต้น ยืนต้นเด่นเป็นสง่า อยู่ตรงกลาง พลับพลาทั้งสองหลังนี้น่าจะเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องสำหรับกษัตริย์ ก่อนเดินขึ้นสู่การทำพิธีโสมสูตเบื้องบน

เมื่อเดินต่อขึ้นไปเรื่อยๆแล้วก็จะต้องผ่านโคปุระ(ซุ้มประตู) ชั้นต่างๆ ที่พังทลายลงมา แสดงถึงการแบ่งเป็นชั้นๆ ตามปกติ และในบางชั้นนั้น จะมีช่วงพื้นที่ด้านซ้ายและ ขวา ซึ่งมีร่องรอยการสร้างปรางค์ อิฐองค์เล็ก ๆ เอาไว้ มากมาย ถ้าปราสาทนี้ยังคง และ ทับหลัง สวยๆมากมาย และความยิ่งใหญ่ของปราสาทแห่งนี้  ที่เราเดินขึ้นสู่ ตัวปราสาทหลังประธาน หัวใจสำคัญของเทวสถานปราสาทวัดพู
ลักษณะของบันไดหิน ที่เราเดินขึ้น สู่ ปราสาทหลังประธาน จะมีซุ้มต้นจำปาขนาดใหญ่ เป็นจุดพักเหนื่อย เราสามารถหยุดพักและชมวิวได้ที่จุดนี้

มาถึงชั้นสุดท้าย ต้องเดินขึ้นค่อนข้างชันมากเมื่อเดินขึ้นมาจนสุดจะเจอกับเทวาลัย หรือ ปราสาทหลังประธาน หัวใจสำคัญของเทวสถานปราสาทวัดพูแห่งนี้  โดย แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คืออาคารหินทรายส่วนหน้าเรียกว่า มณฑป สร้างขึ้นราวๆช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 มณฑปนี้จะมีจุดเด่นตรงที่ มีการสลักภาพเล่าเรื่องและภาพบุคคลต่างๆตามความนิยมในศิลปะเขมรมากมายทั้งที่ตัวผนังปราสาท หน้าบันและทับหลัง ด้านในสุดของมณฑปเป็นห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ชาวลาวสร้างขึ้นในสมัยหลัง ช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนตัวปราสาทวัดพูจากเทวสถานของศาสนาฮินดูของเขมร มาเป็นวัดพุทธศาสนาแบบลาว

ด้านหลังมณฑปเป็นอาคารก่ออิฐแบบโบราณ ซึ่งก็คือ ปราสาทประธาน นั่นเอง ในอดีตปราสาทอิฐหลังนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ “ภัทเรศวร” ที่กษัตริย์กัมพูชาเคารพนับถือมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรเจนละ แต่ปัจจุบันไม่มีศิวลึงค์อยู่ในห้องนี้แล้ว

จากตัวปราสาท เดินขึ้นไปทางซ้ายมือนั้น มีทางเดินไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่มีน้ำใต้ดินซึมออกมาตามธรรมชาติ บริเวณหน้าผาเพิงหินด้านหลังปราสาทประธานของวัดพู จะมีน้ำไหลซึมออกมาตลอดทั้งปี ชาวลาวเรียกว่า “น้ำเที่ยง” ซึ่งถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากยอดภูเกล้า ลิงคบรรพต เปรียบประดุจไหลมาจากศิวลึงค์แห่งพระศิวะบนเขาไกรลาส จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่หากได้ปะพรมหรือดื่มกินแล้วจะเกิดสวัสดิมงคลด้วยพรแห่งพระเป็นเจ้า

หากเดินออกจากปราสาทประธานไปยังโขดหินด้านหลังทางทิศเหนือ จะพบรูปแกะสลักนูนสูง รูปเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 3 องค์แห่งศาสนาฮินดู หรือของ “ตรีมูรติ”มีพระศิวะ 5 เศียรอยู่กลาง (เรียกว่า พระสทาศิวะ) พระพรหมอยู่ด้านขวา ส่วนพระนารายณ์อยู่ด้านซ้าย การที่สลักรูปพระศิวะไว้ตรงกลางสำคัญที่สุด บ่งบอกว่าปราสาทวัดพูเป็นเทวสถานใน “ศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย” คือศาสนาอินดูที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่เหนือเทพเจ้าทั้งปวงนั่นเอง 

ที่ปราสาทวัดพูแห่งนี้ จะมีงานประเพณีประจำปีที่เรียกว่า “งานประจำปีวัดพู” จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม และมีงานประมาณ 3 วัน และนี่คือ ภาพที่เรามองเห็นจากด้านบน เมื่อเดินลงจากปราสาทวัดพูแห่งนี้
แม้ว่าปราสาทวัดพูจะมีสภาพที่เก่าแก่ปรักหักพังตามกาลเวลา ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการเท่าปราสาทนครวัดที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่คุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้ ในฐานะจุดกำเนิดอารยธรรมกัมพูชาสมัยเจนละผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ในอดีต ต่อเนื่องมาจนกลายเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในจิตใจของชาวลาวเจ้าของพื้นที่ในปัจจุบัน ก็ยิ่งใหญ่สมควรแก่การมาเยี่ยมเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ขอขอบคุณ. #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ #หลงรักแผ่นดินถิ่นอีสาน

ช่างภาพดอกไม้และใบหญ้า มีกล้องอยู่ข้างกาย เท้าซ้ายเข้าเกียร์