เที่ยวพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า แหล่งเรียนรู้ นิเวศวิทยา ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

คิดจะพัก – พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า (RAMA9MUSEUM) ตั้งอยู่ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี แหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาของคนไทยและผู้สนใจจากทั่วโลก มีกำหนดจะเปิดให้ชมอย่างเป็นทางการในปลายปี 2562 แต่วันนี้อยู่ในระหว่างการทดลองเปิดบริการ เพื่อทดสอบระบบและความพร้อม ซึ่งเราจะพาไปชมภายในก่อนว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง?

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงมีความตั้งใจที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและธรรมชาติวิทยาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก …ทันสมัย ขนาดใหญ่เท่ากับสามพิธภัณฑ์รวมกัน

สถาปัตยกรรมความสมดุลแห่งชีวิต

นิทรรศการภายในประกอบด้วย

  • กำเนิดโลกและวิวัฒนการของสิ่งมีชีวิต การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตในภูมิประเทศที่ต่างกัน เกิดกลุ่มสังคมพืชและสัตว์ที่อยู่อาศัยร่วมกันในบริเวณที่เรียกว่า ชีวนิเวศ ตลอดจนอิทธิพลของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมนั้น
  • ภูมินิเวศของไทย ซึ่งเป็นการแบ่งพื้นที่ตามการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในประเทศไทย
  • นิทรรศการภายในหอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตรยินักพัฒนา นำเสนอสาระที่เป็นหลักคิด หลักการ หลักปฏิบัติ วิธีการแก้ปัญหาในเชิงกระบวนการที่เป็นสากล รวมถึงแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การมีจิตสำนึกในการรักษา อนุรักษ์ระบบนิเวศ และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน ตามแนวคิดและวิธีการทรงงานต้นแบบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

เนื่องจากพิพิธภัณฑ์มีขนาดใหญ่ และเรามีเวลาไม่มากนัก ทำให้พลาดชมบางจุด ดังนั้น เราจึงขอเล่าในส่วนที่ได้พบเห็น และสัมผัส พร้อมอ้างอิงข้อมูลจากแผ่นพับที่ได้รับจากพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น …ทางเข้า และทางออก อยู่คนละเส้นทาง (ลักษณะเหมือนเดินเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ) …ไม่หลงแน่นอน!!

เริ่มจากโซนแรก… OUR HOME บ้านของเรา

โซนแรกที่เราต้องผ่าน พื้นที่จัดแสดงเรื่องราว การก่อกำเนิดจักรวาลระบบสุริยะ และโลก ไปจนถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งเกิดสายพันธุ์มนุษย์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในพื้นที่ต่างๆ ของโลก

หลังจากขึ้นบันไดเลื่อนไปที่ชั้น 2 แล้ว ก็เดินผ่านประตูเหล็กกั้น เข้าสู่ส่วน OUR HOME บ้านของเรา …จุดแรกที่เราเข้าไปเยี่ยมชมอยู่ด้านขวา “บิ๊กแบง (BIG BANG)” ห้องทรงกลมโค้ง สำหรับจัดฉายภาพเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องราวของสรรพชีวิตบนโลกที่เป็นผลมาจากระเบิดครั้งใหญ่ หรือ Big Bang ซึ่งก่อให้เกิดจักรวาล ระบบสุริยะ และโลกของเรา ใช้เวลาประมาณ 7 นาที (ฉายเป็นรอบๆ) จะนั่งดู นอนดู ก็ได้ตามอัทธยาศัย…บรรยากาศคล้ายท้องฟ้าจำลอง 

ส่วนโซนด้านซ้าย เป็นนิทรรศการ ที่พักพิง (SHELTER) …วิวัฒนาการ กว่าโลกจะกลายมาเป็น “บ้าน” ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนั้น ได้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มากมาย และถัดไปจัดแสดงการกำเนิดชีวิต (LIFE) ชีวิตบนโลกเริ่มต้นขึ้นจากการเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ต่อมาอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมส่งผลให้สิ่งมีชีวิตปรับตัวจนมีรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นและถ่ายทอดลักษณะต่างๆ สู่ลูกหลานผ่านดีเอ็นเอ

ขอถ่ายรูปไดโนเสาร์ที่ยืนชูหัว ส่ายหาง นามว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน และ สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส
ซึ่งจุดนี้ จัดแสดง EVOLUTION AND MASS EXTINCTION วิวัฒนาการและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สิ่งมีชีวิตต้องพยายามปรับตัวเพื่ออยู่รอดได้ โดยสะท้อนให้เห็นผ่านทางรูปแบบของวิวัฒนาการ และระหว่างทางได้เผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หลายครั้ง ร่องรอยดังกล่าวนี้ปรากฏให้เห็นผ่านซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้นำมาศึกษาเพื่อบอกเล่าถึงความเป็นมาของโลกและสิ่งมีชีวิต …น่าสนใจ 

เดินเข้าไปท้ายสุดของห้อง ตามหามนุษย์โบราณ สายพันธุ์ต่างๆ ในส่วนที่เรียกว่า การเดินทางอันยาวนานของมนุษยชาติ HUMAN ODYSSEY …จัดแสดงตัวอย่างมนุษย์สายพันธุ์หลักๆ ที่แสดงถึงวิวัฒนาการทางกายภาพ จนกระทั่งมนุษย์สามารถยืนตัวตรงเดินสองขาได้อย่างมั่นคง รวมไปถึงการใช้มือที่มีลักษณะพิเศษ และสติปัญญาในการสร้างสรรค์วัฒนธรรม เพื่อปรับตัวและอยู่รอดตามสภาพแวดล้อมของโลกที่แตกต่างกันออกไป …เรื่องราวการกำเนิดของมนุษย์อยู่นี่เอง!!

เข้าสู่โซนที่สอง… OUR LIFE ชีวิตของเรา

เป็นพื้นที่จัดแสดงสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์ ภายในชีวนิเวศ (Biome) ต่างๆ เช่น
Antarctica, Arctic, Tundra, Taiga, Desert, Temperate และ Tropical ตลอดจนอิทธิพลของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมนั้นๆ ซึ่งบางกิจกรรมก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังแสดงถึงเขตภูมินิเวศ (Ecoregion) ของประเทศไทยอีกด้วย  …อยากรู้อะไร หาคำตอบได้จากจอคอมพิวเตอร์แต่ละจุด …ระบบสัมผัส?

  • แอนตาร์กติกา ANTARCTICA  … ยังอยู่บนชั้น 2 เดินผ่านอุโมงค์ลม ความเร็ว 60 กม./ชม.
    Antarctica เป็นชีวนิเวศบริเวณขั้วโลกใต้ที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างถาวร ยกเว้นนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโลกและสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีความหนาวเย็นมาก อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง -49 ถึง -89 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตบางชนิดทั้งพืชและสัตว์ที่สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางสภาพอากาศอันรุนแรงนี้ แม้ Antarctica ไม่มีมนุษย์อาศัยถาวร แต่ผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์จากชีวนิเวศอื่นก็สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหารอยรั่วของชั้นโอโซน

  • จากจุดนี้มีบันได และลิฟท์ ไปถึงชั้น 1 ซึ่งยังคงจัดแสดงส่วนของ OUR LIFE ต่อจากแอนตาร์กติกา คือพื้นที่ อาร์กติก ARCTIC ชีวนิเวศที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง และที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้ เช่น วาฬ หมีขาว วอลรัส แมวน้ำ รวมทั้งมนุษย์ เช่น ชาวอินูอิท (Inuit) ซึ่งสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวจากก้อนน้ำแข็ง เรียกว่า Igloo ปัจจุบัน Arctic เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำแข็งละลาย
  • เดินไปทางด้านซ้าย …พื้นที่จัดแสดง ทุนดรา TUNDRA ชีวนิเวศที่มีความหนาวเย็น มีช่วงอากาศอบอุ่นสั้นมาก ประมาณ 50-60 วัน พืชส่วนใหญ่จึงเป็นพืชขนาดเล็ก เช่น หญ้า มอสส์ ดอกไม้ต่างๆ มีมนุษย์อาศัยอยู่หลายเผ่าพันธุ์ เช่น ชาว Nuatak, ชาว Yupik ซึ่งดำรงชีพโดยการเลี้ยงเรนเดียร์ ความโดดเด่นที่ไม่เหมือนชีวนิเวศเขตอื่นคือการเกิดขึ้นของฝูงยุงนับล้านตัวในช่วงฤดูร้อน

  • ถัดไปทางพื้นที่ทางด้านขวา คือดินแดนป่าสนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ไทก้า TAIGA เป็นชีวนิเวศบนบกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแบบสุดโต่งคือ มีฤดูหนาวยาวนาน มีฤดูร้อนช่วงสั้นๆ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสภาพแวดล้อม เช่น ไฟป่า การบุกรุกจากแมลง เป็นต้น

  • เดินย้อนกลับตามเส้นทางเดิม ส่วนที่อยู่ใกล้บันไดลงมาจากชั้น 2 คือพื้นที่ทะเลทราย DESERT ที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง สิ่งมีชีวิตต่างๆ จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น อาศัยในหลุมหรือรู การเปลี่ยนใบให้เป็นหนามของต้นกระบองเพชร เป็นต้น ในบริเวณนี้มีห้องฉายภาพยนตร์ 4 มิติ ชีวิตในทะเลทราย …เสียดายที่ไม่ได้ดู (ต้องรอคิว)

 

  • ต่อจากทะเลทราย พื้นที่ด้านซ้าย(หันหน้าออกจากทะเลทราย) คือ เขตอบอุ่น TEMPERATE สถานที่ซึ่งมีความโดดเด่นของชีวนิเวศใน 4 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตจึงเปลี่ยนไปตามฤดูกาล …ประสบการณ์ที่ไม่ควรพลาด เดินเล่นบนต้นโอ๊คยักษ์ สัมผัสบรรยากาศใบไม้เปลี่ยนสี และสัมผัสชีวิตท่ามกลางทะเลทราย (จุดนี้เราไม่ได้เดินเข้าไปชมภายใน กลัวออกไม่ทันเวลานัดหมาย)

  • ฝั่งตรงข้ามพื้นที่ทะเลทราย เราต้องผ่านพื้นที่โล่ง Rest Area จุดพักผ่อน (ตามอัทธยาศัย) ก่อนเดินต่อไปยังพื้นที่ เขตร้อน TROPICAL จัดแสดงชีวนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในทุกลำดับความสูงของป่า แสงแดดและน้ำฝนมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความแตกต่างกัน …จุดที่น่าสนใจ พาเหรดหุ่นจำลองสัตว์ในป่าเขตร้อน และภาพเคลื่อนไหวลีเมอร์น้อย ผจญภัยไปในป่าเขตร้อน กับฝูงเพื่อนสัตว์ป่านานาชนิด

 

  • เดินต่อไป จากรากไม้ขนาดใหญ่ เข้าสู่พื้นที่จัดแสดง ดินและน้ำ SOIL AND WATER
    นิทรรศการ ที่นำเสนอและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับดินและนำเสนอวัฏจักรของน้ำในประเทศไทย การใช้ประโยชน์จากน้ำ แนวคิด และวิธีบริหารจัดการ รวมทั้งปัญหาและการแก้ไข

  • ระหว่างพื้นที่เขตร้อน กับพื้นที่จัดแสดง ดินและน้ำ จะมีททางเดินเชื่อมไปถึงส่วนที่เรียกว่า ภูมินิเวศไทย THAILAND ECOREGION ส่วนที่จัดแสดงสำหรับการอธิบายแนวคิด และความหมายของคำว่าเขตภูมินิเวศ และการจำลองป่า ได้แก่ ป่าดิบเขา, ป่าเต็งรัง, ป่าดิบชื้น และป่าพรุ

  • จากพื้นที่จัดแสดงภูมินิเวศไทย จะมีประตูเชื่อม สามารถเปิดออกไปสู่พื้นที่ วนนิเวศของไทย THAI FOREST ECOSYSTEM  ชมพรรณไม้จากผืนป่าเมืองไทย มีจุดชมวิวมุมสูงจากน้ำตกจำลอง …น่าสนใจ แต่ไม่ได้ขึ้นไป (กลัวความสูง)

โซนสุดท้าย… OUR KING ในหลวงของเรา

พื้นที่จัดแสดงส่วนนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้หลักการคิด วิธีทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ผสมผสมกับองค์ความรู้เรื่องระบบนิเวศของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงนำไปแก้ปัญหา พระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย

รถทรงงานในความทรงจำ

เนื่องจากไม่มีเวลาชมอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องไปต่อ จึงขอลงภาพที่จัดแสดงบางส่วนไว้เป็นข้อมูล …หากมีโอกาส ปลายปีจะไปเยี่ยมชม อีกครั้ง ?

เดินต่อไป… ผ่านพื้นที่ด้านขวา ที่มีโต๊ะ เก้าอี้ ให้นั่งพัก นักอ่านหนังสือ …ส่วนด้านซ้าย จะมีประตูเชื่อมสู่บันได ลงไปถึงทางออกด้านหน้าได้ …เดินเรื่อยๆ ไม่หลง?

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เป็นอีกหนึ่งความทรงจำ ที่อยากบอกว่า แม้จะเป็นการทดลองเปิดบริการ แต่สิ่งที่ได้สัมผัสนั้น “คุ้มค่าที่ได้ชม” หากใครสนใจอดใจไว้ปลายปี เพราะช่วงทดลองเปิดนี้ มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก อาจจะต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน อย่างไรก็ตาม ควรไปศึกษาวิธีการ และขั้นตอนได้ในเว็ปไซต์ของพิพิธภัณฑ์ …อดใจไว้ปลายปี เชื่อเถอะว่า ยิ่งใหญ่ ตระการตา แน่นอน ?

 


พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า

เปิดให้บริการเพื่อทดสอบระบบในวันที่ 15 มิ.ย.-14 ก.ค.นี้ ก่อนจะพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้

ผู้สนใจเข้าชมสอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-2577- 9999 ต่อ 2122-3 หรือดูรายละเอียดที่ http://www.nsm.or.th/rama9-homepage.html  …ปิดทำการทุกวันจันทร์

การเดินทางโดยรถยนต์ :

  •  ถนนวิภาวดี-รังสิต ขาเข้าจากสระบุรี เข้าได้ 2 ทางคือ
    1. เส้นทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลี้ยวซ้ายผ่านวัดธรรมกาย อ.คลองหลวง – หนองเสือ ถึงทางแยก
    แยกซ้ายไปหนองเสือ ให้เลี้ยวขวาไปพิพิธภัณฑ์ฯ ระยะทาง 2 กิโลเมตร พิพิธภัณฑ์ฯอยู่ซ้ายมือ
    2. เส้นทางฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เลี้ยวซ้ายถนนรังสิต-นครนายก เส้นทางเดียวกันกับดรีมเวิลด์ โดยดรีมเวิลด์
    จะอยู่ระหว่างคลอง 3 กับ คลอง 4 ตรงไปเรื่อยๆ สังเกตถนนวงแหวนตะวันออกคร่อมอยู่ ตรงไปอีก 200 เมตร เจอสะพานคลอง 5 ลงสะพานชิดซ้าย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลียบคลอง 5 อีก 4 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าเทคโนธานี ตรงไปถึงวงเวียนเลี้ยวซ้ายเข้าองค์การพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ
  • ถนนพิเศษ มอเตอร์เวย์ (ถนนหมายเลข 7) มาจาก ภาคตะวันออก
    เข้าถนนพิเศษมอเตอร์เวย์ (ถนนหมายเลข 7) ตรงมายังถนนกาญจนาภิเษก วงแหวนตะวันออก (ถนนหมายเลข 9) ออกช่องทางบางปะอิน จะผ่านด่านเก็บเงินสองด่าน คือด่านทับช้าง และด่านธัญบุรี พอออกจากด่านธัญบุรีแล้ว ให้เลือกช่องทางนครนายกในการออกจากถนนกาญจนาภิเษก วงแหวนตะวันออก เข้าสู่ถนนรังสิต – นครนายก ขับตรงมาประมาณ 400 เมตร จะมีสะพานข้ามคลองห้าให้ข้ามสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลียบคลองห้า อีก 4 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าเทคโนธานี ตรงไปถึงวงเวียน เลี้ยวซ้ายเข้าองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

 

คลุกคลีอยู่ในวงการสื่อกว่า 26 ปี