คิดจะพัก-สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ แนะนำประชาชนหลังอุดฟันควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก และปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ หากไม่ดูแล ฟันที่อุดไปมีโอกาสผุซ้ำ
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การอุดฟัน คือ การบูรณะฟัน เพื่อให้ฟันที่ผุ หรือเสียหายกลับมาอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ มีรูปร่างลักษณะเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงฟันเดิม หรือได้ฟันที่รูปร่างดีกว่าเดิมพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การอุดฟันไม่ได้ใช้เฉพาะกรณีฟันผุเท่านั้น สามารถทำได้ในกรณีฟันแตก ฟันบิ่น ฟันมีรอยสึก หรือหากมีอาการเสียวฟัน การอุดฟันสามารถช่วยได้แล้วแต่กรณี ซึ่งบางครั้งการอุดฟันเพื่อแก้ไขฟันเดิมให้สวยงามขึ้นและใช้บดเคี้ยวอาหารได้ด้วย
ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอุดฟันไม่เฉพาะแต่ฟันที่มีรอยผุ หรือเป็นรูเพียงอย่างเดียว ฟันที่แตก บิ่น ฟันที่มีรอยสึก หรือมีอาการเสียวฟันขณะทานอาหาร ของหวาน หรือดื่มน้ำเย็น ทันตแพทย์จะตรวจฟันหรือบริเวณที่จะอุดก่อน เพื่อดูความเหมาะสมของวัสดุที่ใช้อุด ซึ่งวัสดุที่ใช้อุดฟันมี 2 ชนิด คือ อมัลกัม เป็นวัสดุสีเงินที่มักใช้อุดฟันกราม ส่วนอีกชนิดคือ คอมโพสิต เป็นวัสดุสีคล้ายฟัน ในขั้นตอนของการเตรียมฟัน จะทำการกรอตัดเนื้อฟันที่ผุออก หรือแต่งฟัน ให้มีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมให้วัสดุยึดติดกับเนื้อฟันได้ดี ทั้งนี้การอุดฟันไม่ว่าจะใช้วัสดุชนิดใด จะมีรอยต่อระหว่างวัสดุกับผิวฟัน สามารถเกิดการสะสมของแบคทีเรียและเกิดรอยผุซ้ำได้อีก
ดังนั้นหลังจากอุดฟันควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก และปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ หมั่นตรวจดูรอยอุดว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ มีรอยแตกบิ่น ใช้ไหมขัดฟันแล้วขาด หรือมีกลิ่นเหม็นบริเวณที่เคยอุดไปแล้ว ควรปรึกษาทันตแพทย์ เกี่ยวกับอาการดังกล่าว เพื่อทำการบูรณะต่อไป นอกจากนี้ควรแปรงฟันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง หรือแปรงฟันหลังรับประทานอาหาร ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน ตลอดจนควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน