เมื่อเรากำลังย่างเข่าสู่ สังคมผู้สูงอายุ วัคซีนที่ต้องฉีด และสังคมไทย

คิดจะพัก-การติดเชื้อในผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ เพราะเมื่อผู้สูงอายุมีการติดเชื้อโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วยเช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง หรือป่วยเป็นมะเร็งจะมีอาการที่รุนแรงและต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรืออาจเสี่ยงต่อความพิการหรือเสียชีวิตได้ ประกอบกับสังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรเด็กและวัยทำงาน ซึ่งหมายถึงว่าจะเกิดภาวะพึ่งพาโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขมากขึ้น

 

ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุและการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บป่วย และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลอีกด้วย ปัจจุบันการให้วัคซีนป้องกันโรคแก่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังได้รับการสนับสนุนในหลายประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยยังพบว่าอัตราการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคเรื้อรังอยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากแพทย์และผู้สูงอายุไม่เข้าใจ ถึงความสำคัญของการป้องกันโรคที่มีความรุนแรง ดังนั้นคนในครอบครัวคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุในบ้านให้มีสุขภาพที่แข็งแรงด้วยปัจจัยพื้นฐาน และการสนับสนุนการป้องกันโรคติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีนเพียงเท่านี้ สังคมสูงอายุก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ในปัจจุบันวัคซีนที่แพทย์ควรพิจารณาสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญและพบเป็นสาเหตุที่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือป่วยหนักทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิต นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่พบได้ในผู้สูงอายุเช่น วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ วัคซีนป้องกันงูสวัด ก็มีความสำคัญเช่นกัน

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อโดยการหายใจหรือการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ  โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หอบหืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง และ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือหญิงตั้งครรภ์ อาจมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ทำให้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้

การป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทำได้โดยการรักษาอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือและการฉีดวัคซีน  ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดการเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากปอดบวมและลดการเสียชีวิตได้ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่โดยฉีดเข้ากล้ามบริเวณต้นแขนปีละ 1 ครั้งทุกปี นอกจากนี้ยังควรฉีดวัคซีนแก่บุคคลซึ่งใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูงกล่าวข้างต้น เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพราะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงเมื่อตนเองป่วย

ผู้สูงอายุที่มีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อปอดบวมโดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส มักต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและบางรายมีอาการรุนแรง มีการติดเชื้อในกระแสโลหิตหรือเสียชีวิต ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อแบคที่เรียนิวโมคอคคัส โดยแนะนำให้ฉีดแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อปอดบวมรุนแรงดังกล่าวข้างต้น การฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียงแต่มักไม่รุนแรงและมักเป็นอาการเฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดและหายได้ภายใน 2-3 วัน

การกระตุ้นภาครัฐและภาคประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุโดยเฉพะการป้องกันโรคเป็นสิ่งสำคัญ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้ เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำ ” แนวทางการให้วัคซีนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ” เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังอย่างถูกต้องและเหมาะสม สร้างความตระหนักในการดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยและผู้สูงอายุผู้ในครอบครัว

 ในด้านการป้องกันโรคและผลักดันภาครัฐ สังคม และเอกชน ให้เห็นความสำคัญในการสนับสนุนการให้วัคซีนแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันสถานเสาวภา สภากาชาดไทยได้มีการจัดทำโปรแกรม ” สถานเสาวภา” (ดังรูป) เพื่อให้แพทย์และประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้ถึงวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังที่ควรได้รับการฉีดตามคำแนะนำดังกล่าว ซึ่งสามารถเข้าใช้ได้โปรแกรมได้โดยผ่านทาง QR Code หรือ http:medschedule.md.chula.ac.th/vaccine

บทความโดย

ศ.นพ.ธีระพงษ์  ตัณฑวิเชียร ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย