คิดจะพัก-โซเดียม เป็นภัยเงียบใกล้ตัว เปรียบได้เหมือนการสะสมความตายแบบผ่อนส่ง นอกจากอาการป่วยที่จะสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตแล้ว ยังเป็นภาระทางการเงินระยะยาวที่ต้องแบกรับ ซึ่งประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยที่ต้องล้างไตเพิ่มขึ้นทุกปี คนไทยกินเกลือ (โซเดียม) สูงถึง 4,351 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ มากกว่า 2 เท่าของความต้องการของร่างกาย
ปัจจุบัน คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละเกือบ 40,000 คน หรือ วันละ 108 คน เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตมากกว่า 500,000 คน ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมาตรการในการรณรงค์ให้คนไทยลดการบริโภคเค็ม อย่างเช่น การมีฉลากโภชนาการ บอกค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรจึงขอเสนอ นโยบาย เก็บภาษีความเค็มโดยเริ่มต้นจากสินค้าประเภท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กขนมกรุบกรอบ ทุกประเภท เป็นอันดับแรก เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมสูงมาก
การใช้นโยบายเก็บภาษี หวาน-เค็ม ในต่างประเทศ
ประเทศฮังการี
เริ่มประกาศใช้ในปี พศ. 2554 เก็บภาษี หวาน – เค็ม เช่น เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส จากการประเมินผลในปี พศ. 2556 รัฐเก็บภาษีได้ 2,300 ล้านบาท/ปี
ผลที่เกิดขึ้น
1. เพิ่มการรับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค
2. ประชาชนลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีผลเสียต่อสุขภาพ 20-35% โดยให้เหตุผลว่า ราคาสูง (80%) และ ห่วงสุขภาพ (20%)
3. ยอดขายในผลิตภัณฑ์ที่ถูกเก็บภาษีลดลง 27%
4. ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับสูตรอาหารเพื่อลดภาษี
5. ผลของภาษีมีผลต่อการบริโภคน้ำตาลและเกลือของประชาชนโดยเฉพาะคนที่บริโภคปริมาณสูงอยู่ก่อน
ประเทศโปรตุเกส
รัฐบาลร่างแผนภาษีในปี พ.ศ.2561 เพื่อนำภาษีที่ได้ไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
เสนอเก็บภาษี อาหารสำเร็จรูปในผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือสูง เช่น เวเฟอร์ บิสกิต อาหารที่มี cereal เป็นส่วนประกอบ มันฝรั่งแห้งหรือทอด
ถ้าเกลือ > 1% ( หรือโซเดียมมากกว่า 400 มิลลิกรัม/100 กรัม) เก็บภาษี 0.8 euro/kg (27 บาทต่อกิโลกรัม)
ถ้าเกลือ < 1% (หรือโซเดียมน้อยกว่า 400 มิลลิกรัม /100 กรัม) ไม่เสียภาษี
เบื้องต้นการเก็บภาษีความเค็มในสินค้า ก็ยึดรูปแบบกับการเก็บภาษีความหวาน โดยจะมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัว เช่น ให้เวลา 3 ปี ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่สามารถลดได้ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีในทันที
เรื่องโดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
อาจารย์สาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม