เข้าใจผิดมานาน| งูสวัดมิใช่โรคผิวหนัง แต่เป็นโรคทางระบบประสาท

คิดจะพัก-สถาบันประสาทวิทยา  กรมการแพทย์  เผยอาการปวดปลายประสาทตามผิวหนังจากเชื้อไวรัสงูสวัด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย และมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 50-59 ปี แต่ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสงูสวัด

      นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคติดเชื้องูสวัดมิใช่โรคผิวหนัง แต่เป็นโรคทางระบบประสาท โดยอาการปวดปลายประสาทตามผิวหนังจะเกิดภายหลังการอักเสบ เป็นผื่น ตุ่มน้ำจากเชื้อไวรัสงูสวัด โดยการติดเชื้อไวรัสงูสวัดเป็นผลจากการกระตุ้นซ้ำของเชื้อไวรัสที่หลบซ่อนอยู่ในปมประสาทรับความรู้สึกและก่อให้เกิดผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส กระจายไปตามผิวหนังที่เส้นประสาทนั้นๆ ครอบคลุมอยู่ร่วมกับมีอาการปวดที่จะทุเลาและหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์

       แพทย์หญิงไพรัตน์  แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อุบัติการณ์ของการเกิดผื่นจากงูสวัดอยู่ที่ 3.4 ราย ต่อ 1,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 50-90 ปี โดยพบ 11 ราย ต่อ 1,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด มักจะมีอาการปวดตามมาในเวลา 3 เดือน หลังเกิดอาการงูสวัด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามผิวหนัง บริเวณที่เคยอักเสบมีผื่นหรือตุ่มน้ำจากงูสวัด มีอาการแสบร้อน ปวดแปล๊บๆ คล้ายถูกไฟช็อต หรืออาการปวดผิวหนัง ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นด้วยสัมผัสต่างๆ ร่วมกับอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทรับความรู้สึก เช่น ชา คันยุบยิบผิดปกติ อาการปวดปลายประสาทจากงูสวัดเป็นผลโดยตรงจากการตอบสนองที่เส้นประสาทถูกทำลายในช่วงที่มีการอักเสบจากงูสวัดโดยมีปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดปลายประสาทจากงูสวัด ได้แก่ อายุที่เพิ่มสูงขึ้น ความรุนแรงของอาการแรกเริ่มของผื่น อาการปวดในช่วงที่เกิดการอักเสบจากงูสวัด โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคร่วมเรื้อรัง  เช่น ปอดอักเสบ เบาหวาน หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง  การรักษาอาการปวดปลายประสาทจากงูสวัด เป็นการรักษาอาการปวด ตามอาการโดยอาจใช้เพียง topical treatment  เช่น เจลพริก (capsaicin gel) ถ้าอาการปวดไม่มากหรือเลือกใช้ยากลุ่มกันชักหรือยากลุ่มต้านเศร้า  อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีอาการปวดจากงูสวัด สามารถดีขึ้นและหายได้เอง เมื่อเวลาผ่านไปสำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดปลายประสาทจากงูสวัด ทำได้โดยการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ โดยแนะนำให้กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 50-60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสงูสวัด  เนื่องจากการศึกษาพบว่าสามารถลดอุบัติการณ์เกิดงูสวัดได้ถึง 50%  และลดอุบัติการณ์การเกิดอาการปวดปลายประสาทจากงูสวัดได้ถึง 66%