คิดจะพัก-ในปัจจุบัน มีศูนย์ สถาบัน คลินิก ดูแลเส้นผม ให้คำปรึกษาด้านเส้นผมเกิดขึ้นหลายแห่งทั้งในห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หรือศูนย์เส้นผมต่าง ๆทุกแห่งต่างประกาศตัวว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้เส้นผมกลับมาดกดำได้ทุกรูปแบบ แถมบางแห่งยังรับรองผล 100 เปอร์เซ็นต์ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก่อนที่จะเลือกรับการบริการหรือการรักษาด้วยวิธีใด ๆ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยอยากให้ท่านได้ลองศึกษารายละเอียดเรื่องเส้นผมดูก่อน เพื่อเลือกตัดสินใจ เข้ารับการรักษา เพราะการเข้ารับการรักษาอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในราคาที่สูงจนน่าตกใจ
เส้นผมบนศีรษะคนเรามีอยู่ประมาณ 100,000 เส้น จำนวน 90 % อยู่ในระยะเจริญเติบโตจะแบ่งตัวสร้างเส้นผมนาน 3-6 ปี อีก 10 % อยู่ในระยะหยุดโตประมาณ 10,000 เส้น เมื่อหยุดโตเส้นผมจะยังคงอยู่บนศีรษะอีก 100 วันแล้วจะค่อยๆหมุนเวียนหลุดไปแล้วจะกลับเข้าสู่ระยะเจริญเติบโตใหม่ ดังนั้นคนทุกคนจะมีผมร่วงได้วันละ 100 เส้น ในวันที่สระผม เส้นผมก็จะร่วงมากกว่าวันปกติ
สาเหตุของผมร่วง เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1.เผ่าพันธุ์ เพศและอายุ 2.เชื้อโรคที่เล่นงานเส้นผมโดยตรงหรือเป็นผลทางอ้อม เช่น เป็นโรคติดเชื้อที่อวัยวะอื่น แล้วทำให้เกิดผมร่วงผิดปกติตามมาภายหลังนาน 3 เดือน 3.สารเคมี เช่น ยาชนิดต่าง ๆ สารพิษปนเปื้อนในอาหารและน้ำ 4.โรคตามระบบต่าง ๆ เช่น โรคไตวาย โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และ 5.จิตใจเศร้าหมองอย่างรุนแรงและเฉียบพลันจนถึงตกใจอย่างรุนแรง เช่น ถูกผีหลอกทำให้ผมร่วงหัวโกร๋นได้ เป็นต้น
คำถามมีอยู่ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าผมร่วงมากผิดปกติ ? ผมร่วงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าผมหลุดร่วงมากเกิน 100 เส้นต่อวันติดต่อกันนานหลาย ๆ วัน แสดงว่ามีผมร่วงผิดปกติ ซึ่งต้องมาสืบหาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ภาวะผมร่วงและผมบางลงหรือภาวะผมร่วงเป็นหย่อมเฉพาะที่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.ภาวะผมร่วงเป็นหย่อม
2.ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะ
ทั้ง 2 ภาวะ สามารถแบ่งแยกย่อย ได้ดังนี้
1.1. ผมร่วงหย่อมเฉพาะที่ชนิดไม่มีแผลเป็นที่หนังศีรษะ ที่พบบ่อย ๆ ได้แก่
1.1.1.ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ จากเชื้อราพบมากในเด็ก ลักษณะผมจะร่วงเป็นกระจุก ผิวหนังในบริเวณที่ผมร่วงจะมีขุยหรือสะเก็ดบางครั้งจะมีผื่นแดง จะวินิจฉัยได้แน่นอนต้องตรวจพบสายราจากขุยหรือเส้นผมที่ศีรษะ การรักษาต้องใช้ยารับประทาน ยาทาไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด
1.1.2. ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ จากการดึงผมตนเอง พบมากในเด็กที่มีความเครียดและเมื่อไม่มีทางระบายออกจึงดึงผมตนเอง เมื่อใช้มือลองดึงเส้นผมดู เส้นผมจะไม่หลุดติดมือออกมาง่าย ๆ เหมือนโรคผมร่วงจากเชื้อรา การรักษาต้องอาศัยความเข้าใจถึงสาเหตุของโรคและเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์ร่วมในกระบวนการดูแลรักษาด้วย นอกจากนี้การทายาครีมสเตียรอยด์ร่วมกับรับประทานยาต้านฮีสตามีน จะช่วยให้อาการดีขึ้น
1.1.3. ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ จากโรคภูมิแพ้รากผม ( alopecia areata) จะมีภาวะระบบภูมิคุ้มกันร่างกายรวน มีเซลล์เม็ดเลือดขาวมารบกวนรากผมทำให้เซลล์รากผมหยุดทำงาน เส้นผมจะหายไปเป็นหย่อม ๆ ผิวหนังบริเวณที่ไม่มีเส้นผมจะเรียบไม่พบตอ เส้นผมหักหรือเป็นตุ่มที่ผิวหนัง วิธีการรักษาใช้ยาสเตียรอยด์ทา กินหรือฉีดเข้าบริเวณที่ผมหลุดร่วงไป เมื่อได้ผลแล้วต้องใช้ยาต่อไป เพราะถ้าหยุดยาผมที่งอกขึ้นมาจะกลับบางลงเหมือนเดิม (ภาวะนี้จะแตกต่างจาก 2 โรคข้างต้น โดยทั่วไปอาจพบผมหลุดร่วงเป็นหย่อมเดียวหรือหลายหย่อม ในรายที่อาการรุนแรงผมจะร่วงทั้งศีรษะ (alopecia totalist)และถ้ารุนแรงที่สุดผมและขนตามตัวจะร่วงหมดเหมือนพญาไร้ใบ (alopecia universalis) การรักษาควรปรึกษาแพทย์
1.2. ภาวะผมร่วงเป็นหย่อมชนิดที่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคฝีหนองบนศีรษะ เชื้อกลากที่ศีรษะชนิดที่มีการอักเสบรุนแรง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โรค ดี.แอล.อี ที่หนังศีรษะ ส่วนใหญ่รากผมจะถูกทำลายอย่างมาก จนไม่สามารถสร้างเส้นผมใหม่ขึ้นมาทดแทนเส้นผมเดิมได้และเกิดพังผืดในชั้นหนังแท้ร่วมด้วยการรักษาควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนให้การรักษาด้วยยา
2..ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะ ที่พบบ่อย ๆ คือ
2.1. ภาวะผมร่วงจากพิษไข้ (Telogen effluvium) คนกลุ่มนี้เส้นผมบนศีรษะเปลี่ยนจากระยะเติบโตไปเป็นระยะหยุดเจริญเติบโต ผมจึงหลุดร่วงมากผิดปกติ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคติดเชื้อชนิดต่าง ๆทำให้ร่างกายมีไข้สูง เช่น ไข้ไทฟอยด์ ไข้มาลาเรีย ไข้หวัดที่มีไข้ติดต่อกันหลายวัน ยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ นอกจากนี้ยังพบในสตรีหลังคลอดบุตรภาวะเครียดหรือตกใจอย่างรุนแรง อาการผมร่วงจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองภายในเวลา 1 ถึง 2 เดือน
2.2. ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะจากการติดเชื้อซิฟิลิสระยะที่ 2 ผมจะร่วงเป็นหย่อม ๆ ทั่วศีรษะคล้ายมอดแทะ การวินิจฉัยที่แน่นอนต้องอาศัยการตรวจเลือดหา VDRL
2.3. ภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศ จะเกิดอาการรากผมค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากผมเส้นใหญ่เป็นผมเส้นเล็ก ถ้าเกิดในผู้ชาย ผมจะบางลงมากในบริเวณกลางศีรษะ ส่วนผู้หญิง ผมจะบางลงบริเวณกลางศีรษะเช่นเดียวกัน แต่จะไม่ล้านเตียนโล่งแบบผู้ชาย การรักษา ภาวะผมบางชนิดนี้จะใช้ยาปลูกผมซึ่งมีหลายชนิดทั้งชนิดทา และรับประทาน (ชนิดรับประทานแต่ไม่เหมาะกับผู้หญิงเพราะเมื่อรับประทานแล้วจะทำให้ขนขึ้นตามตัว มีหนวดเครายาวผิดปกติ ผู้หญิงจึงควรใช้ยาปลูกผมชนิดนี้เพื่อทาเท่านั้น) ปัจจุบันมียากลุ่มนี้ 2 ชนิด คือ Minoxidil และ Fenesteride
2.4. ภาวะผมร่วงจากการรับประทานยาขับปัสสาวะ (Spironolactone) ยาขับปัสสาวะชนิดนี้ จะใช้ลดความดันโลหิตและความดันในลูกตามีฤทธิ์ต้านการทำงานของฮอร์โมน androgen ทำให้เส้นผมไม่เปลี่ยนเป็นขนาดเล็ก ซึ่งต้องระมัดระวังการใช้ยาชนิดนี้เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงของยา จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์
เมื่อมีความรู้ความเข้าใจพอควรแล้วก็เชิญเลือกผู้ดูแลรักษาเส้นผมของท่านตามปรารถนา