อนาคตเด็กยุคใหม่..ไปทางไหนดี?

ในวันที่เด็กไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในวังวนของการตั้งความหวัง (ซึ่งอาจเป็นความหวังของพ่อแม่ และค่านิยมของสังคมไทย) ที่ว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ คือ ก้าวแรกของความสำเร็จในชีวิต และเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยของรัฐนั้น คือ ผู้ที่มีคุณภาพ และมักจะถูกเลือกให้เข้าทำงานมีตำแหน่งที่มั่นคง มีความก้าวหน้าในอาชีพ

 

  เราไม่ได้ปฏิเสธว่าการเรียนจบจากมหาวิทยาลัยของรัฐนั้น ได้หล่อหลอมกล่อมเกลา และเสริมสร้างความสำเร็จในชีวิตได้ดีเพียงใด เพียงแต่กระบวนการและเกณฑ์ในการรับนักศึกษาที่เข้มข้นของมหาวิทยาลัยของรัฐ อาจเหมาะกับเด็กบางกลุ่ม ที่มีลักษณะสนใจใฝ่เรียน มีเกรดเฉลี่ยสะสมมาแล้วเป็นอย่างดี แต่สำหรับเด็กบางคนที่อาจไม่หมาะทางสายวิชาการ อาจต้องถูกลดทอนช่วงชีวิตในวัยรุ่น ทุ่มเทสรรพกำลังในการท่องจำ ค้นคว้า และกวดวิชาอย่างมหาศาลเพื่อให้บรรลุคามความคาดหวัง หรือ เป้าหมายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ ช่วงวัยที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่นั้นกลับต้องทุ่มเทให้กับการท่องจำหนังสือสอบ ติว  และที่มากไปกว่านั้น บางครอบครัววางเป้าหมายนี้ให้แก่ลูกตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ช่วงเวลาแห่งความสุขตามวัย หมดไปกับการเรียนพิเศษ และกิจกรรมพิเศษเสริมทักษะต่างๆ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถตอบคำถามได้ชัดเจนว่า เรียนจบแล้วจะไปทำอะไร หรือจริงๆแล้ว เป้าหมายแท้จริงในชีวิตคืออะไร

  หากพิจารณาจากลักษณะทางประชากรของวัยรุ่นวัยเรียน ซึ่งถือเป็นกลุ่ม GEN Z จะพบว่า ขัดแย้งกับสิ่งที่ระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะ กระบวนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกำลังทำอยู่นี้ อย่างสิ้นเชิง ประชากรกลุ่ม GEN Zนั้น มีลักษณะของการเป็น Digital Citizenship คือสนใจการค้นหาข้อมูลข่าวสารจากสื่อออนไลน์มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลได้ดีสามารถทำอะไรได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันสนใจนวัตกรรมและต้องการเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และที่สำคัญคือสนใจตนเองต้องการเป็นผู้นำด้วยตนเองและเป็นอิสระในการทำงานตามสิ่งที่ชอบดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่และรัฐควรให้ความสำคัญคือการจะเข้าใจเด็กเหล่านี้จะเติมเต็มสิ่งที่พวกเขาสนใจและถนัดได้อย่างไรแทนที่จะตั้งเป้าแค่มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแต่ควรมองหาสถาบันการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กยุคใหม่ได้ดีที่สุดซึ่งในประเทศไทยนั้นมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์เด็กยุคใหม่เพื่อให้ช่วงเวลาในมหาวิทยาลัยเป็นการเติมเต็มความฝันเสริมความรู้เพิ่มทักษะสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์สร้างอาชีพได้ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย

 

ถึงเวลาที่ไม่ใช่แค่รัฐบาลต้องปฏิรูปการศึกษา แต่หากเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องปฏิรูปความคิด เปลี่ยนมุมมอง หาสิ่งที่ใช่มากกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งผลลัพธ์คือชีวิตที่มีความสุขตามวัย และความสำเร็จในวิถีทางที่พวกเขาเลือกและออกแบบได้เอง

บทความโดย

ดร.ทอแสงรัศมี ถีถะแก้ว รองคณบดี สถาบัน Gen.Ed. มหาวิทยาลัยรังสิต

สาวน้อย Graphic Designer ที่ชอบขีดเขียน แต่งตัวไม่เหมือนใคร มีสไตล์ของตัวเอง