“บอกลามอร์ฟีน ด้วยวิทยาการระงับปวดมะเร็งเรื้อรังแบบใหม่”

คลินิกฝังเข็มและบำบัดความเจ็บปวด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำวิทยาการการระงับปวดโรคมะเร็งแบบใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งไม่ต้องเผชิญกับอาการปวดอย่างรุนแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในขณะรับการรักษาต่อไป

 

สำหรับการรักษาและประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะได้รับมอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการปวดเรื้อรังที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทั้งนี้มอร์ฟีนจัดเป็นยาเสพติดประเภทกดประสาท ออกฤทธิ์กดสมองส่วนกลาง ทำให้สมองรับความรู้สึกทางด้านเจ็บปวดน้อยลง จึงช่วยระงับความเจ็บปวดได้ดี แต่หากผู้ป่วยได้รับมอร์ฟีนต่อเนื่องแล้วนั้น การใช้มอร์ฟีนครั้งต่อๆ ไป จะต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยเกิดภาพหลอนอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลบั่นทอนสภาพจิตใจด้วย

 

อ.นพ.มาร์วิน เทพโสพรรณ อาจารย์ประจำหน่วยระงับปวด ฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกฝังเข็มและบำบัดความเจ็บปวด (Acupuncture & Pain Control)  กล่าวว่า ด้วยผลที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตจากการใช้มอร์ฟีนนั้น ทำให้คลินิกฝังเข็มและบำบัดความเจ็บปวด คิดค้นและริเริ่มวิทยาการการรักษาใหม่ โดยนำความรู้จากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อลดการให้มอร์ฟีนแก่ผู้ป่วยหรือทำให้มอร์ฟีนเป็นวิธีสุดท้ายที่จะเลือกใช้

วิทยาการใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อระงับความปวดในผู้ป่วยมะเร็ง เป็นวิธีการเช่นเดียวกับการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง นั่นคือ เทคโนโลยีฝังสายเพื่อให้ยา (มอร์ฟีนปริมาณต่ำ) ทางช่องไขสันหลัง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้มอร์ฟีนออกฤทธิ์ได้โดยตรง จึงสามารถลดปริมาณมอร์ฟีนลงจากการรับประทานเช่นเดิมได้ถึง 50-100 เท่า เหลือเพียง 0.1 มิลลิกรัมเท่านั้น เรียกได้ว่าการให้ยาในตำแหน่งที่ถูกต้อง จะช่วยลดปริมาณการใช้ยาเกินจำเป็นลงได้นั่นเอง

 

ปัจจุบันได้มีอุปกรณ์ที่ทำให้การฝังสายให้ยาแบบเฉพาะเจาะจงที่เส้นประสาทในไขสันหลังเป็นไปอย่างสะดวกและง่ายดายมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ “Intrathecal Drug Delivery Device Implant” ทั้งแบบกระเป๋าหิ้ว ซึ่งจะต่อสายให้ยาระงับปวดเข้าที่ไขสันหลังโดยอัตโนมัติ และแบบอุปกรณ์ฝังในร่างกายบริเวณช่องท้องของผู้ป่วย ซึ่งอุปกรณ์นี้แม้จะมีราคาสูงกว่ากระเป๋าหิ้วหลายเท่า แต่ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องคอยแทงเข็มฉีดยาบ่อยครั้ง จึงช่วยลดโอกาสติดเชื้อได้ดีกว่า

 

อ.นพ.มาร์วิน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการฝังสายเพื่อให้ยาทางช่องไขสันหลังแล้ว ยังมีอีกหนึ่งวิทยาการที่ให้ประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี นั่นคือ การฉีดยาทำลายเส้นประสาทโดยใช้เอ็กซเรย์นำทาง โดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์ตรวจสอบตำแหน่งที่ถูกต้องและนำทางเข็ม เพื่อฉีดแอลกอออล์ 100% ซึ่งมีฤทธิ์ในการทำลายเส้นประสาท เมื่อเส้นประสาทถูกทำลายลง ก็ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกถึงอาการปวดอีกต่อไป แต่ทั้งนี้เส้นประสาทจะสามารถกลับมาทำงานเป็นปกติได้ภายใน 6 เดือน -1 ปี

อ.นพ.มาร์วิน กล่าวอีกด้วยว่า หลักการของการระงับปวดเรื้อรังของคลินิกฝังเข็มและบำบัดความเจ็บปวด ซึ่งโดดเด่นและแตกต่างจากสถาบันอื่นๆ คือ การให้ความสำคัญกับ หัตถการเพื่อระงับปวด (Intervention of Pain Treatment) เพื่อให้ผู้ป่วยหลายรายไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ การให้ยาที่เป็นธรรม และ การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างต่อเนื่อง (Palliative care) ซึ่งเป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเน้นการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังกายกำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้ายและรับการรักษาต่อไป อีกทั้งให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด สามารถใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาคนรอบข้าง และดำรงชีวิตอย่างมีความสุขกับครอบครัวในระยะสุดท้ายก่อนจากไปด้วย

โปรแกรมเมอร์สาว ที่ รักสุขภาพ และออกกำลังกาย เรียกตัวเอง" โปเกม่อน"