ถ้ำเขาหลวง ธรรมชาติงดงาม ประติมากรรมล้ำค่า เมืองเพชรบุรี

ถ้ำเขาหลวง หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบุรี เป็นถ้ำหินปูนขนาดกว้างใหญ่ อยู่ใกล้กับตัวเมืองเพชรบุรี ห่างออกไปทางทิศเหนือของเขาวัง (พระนครคีรี) ภายในถ้ำเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท พระเจดีย์ และพระพุทธรูปน้อยใหญ่ มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับราชสำนัก ตั้งแต่สมัยอยุธยา มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7(ขณะนั้นยังไม่ขึ้นครองราชย์)

 

 

ถ้ำแห่งนี้มี 5 คูหา

 

ก่อนจะเข้าไปยังคูหาที่ 1 เราเดินลงไปตามบันไดขึ้นลง ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การเดินทางขึ้นลงถ้ำเขาหลวง (สร้างครั้งนั้น 2 บันได อีกหนึ่งบันไดอยู่ส่วนท้ายสุดของถ้ำแต่ปัจจุบันปิดเนื่องจากชำรุด)

 

คูหาที่ 1

 

เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท พบในสมัยอยุธยา ภายในรอยพระบาทมีลวดลายมงคล 108 ประการ บริเวณคูหานี้มีพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัย และถัดไปทางด้านซ้ายมือก่อนจะไปสู่คูหาที่ 2 จะมีปูนปั้นรูปคนนอนหงายคล้ายซากศพจำลอง รูปฤๅษี มีหินงอกหินย้อยประจบชนกันคล้ายช้าง

 

คูหาที่ 2

 

ถัดมาจากคูหาที่ 1 ด้านขวามือมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งปางมารวิชัย และปางสมาธิ 4 องค์ แต่ละองค์มีจารึกพระปรมาภิไธยที่หน้าตักและมีลวดลายรูปปั้นตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชการที่ 1 – รัชกาลที่ 4 อยู่ที่ผ้าทิพย์ (ถ้าหันหน้าไปทางพระพุทธรูป จากซ้ายไปขวา องค์แรก สมัยรัชกาลที่ 1 ไปจนถึงรัชกาลที่ 4 ) ใกล้กันมีระฆังโลหะ 1 ใบ เป็นระฆังที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ (เดิมทีมี 2ใบ หายไป 1 ใบไม่ทราบสูญหายช่วงไหน)

 

 

 

คูหาที่ 3

 

เป็นห้องโถงที่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุดของถ้ำ พื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปูพื้นด้วยกระเบื้องดินเผาสี่เหลี่ยม มีหินงอก หินย้อย เพดานถ้ำมีปล่องที่แสงอาทิตย์ส่องลงมาถึงพื้น ซึ่งเวลาที่เหมาะจะชมแสงอาทิตย์ส่องลงมากระทบพื้นสวยที่สุดอยู่ช่วงเวลา 10.00 – 12.00 น. (เวลาที่เราถ่ายภาพไว้คือ 11-45-12.00 น.)

 

 

 

บริเวณโดยรอบห้องเป็นพระระเบียงคต มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่จำนวน 179 องค์

 

 

 

หลวงพ่อถ้ำหลวง พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งปางมารวิชัยขนาดใหญ่เป็นพระประธาน ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่ชัดเจน อยู่บริเวณตรงกลางปล่อง(ช่อง)ที่มีลำแสงส่องกระทบ ช่างงดงาม

 

 

 

พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ และพระพุทธรูปปางอื่นๆ อีกหลายองค์

 

 

บริเวณใกล้หลวงพ่อถ้ำหลวง มีเจดีย์ 8 เหลี่ยม และเจดีย์ทรงระฆัง 3 องค์ ล้วนงดงามและมีประวัติชวนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

จากเจดีย์ 3 องค์ ก่อนที่จะเดินต่อไปคูหาที่ 4 แวะขอพรโชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์ กับพระสังกัจจายน์

 

 

 

ถัดจากพระสังกัจจายน์ จะเป็นพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์ ที่สันนิฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

 

 

คูหาที่ 4

 

มีแนวกำแพงและซุ้มประตูปูนปั้นแยกพื้นที่ออกจากคูหาที่ 3 เดินผ่านเข้าไป บริเวณผนังถ้ำด้านซ้ายมือเป็นแนวระเบียงคต จะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 3 องค์ ที่รัชกาลที่ 4 และพระราชโอรสทรงปฏิสังขรณ์ (องค์ใหญ่เป็นของรัชกาลที่ 4 ส่วนอีก 2 องค์เป็นของพระราชโอรสองค์โต และองค์รอง) ห้องนี้จะมีปล่องตรงกลาง และจะมีแสงส่องลงมาตอนช่วงบ่าย

 

 

แต่บริเวณที่น่าสนใจ ด้านซ้ายมือ ถัดจากซุ้มประตู … ไกด์หนุ่มที่พากลุ่มอื่นชมถ้ำ เราก็เลยขอเกาะตามไปด้วยจากจุดนี้ เขาบอกว่า ตรงนี้เป็นรูปปั้น ตากับยาย ใครอยากได้ลูกให้ขอเลย แต่ถ้าใครอยากได้คู่ต้องตามไปขอที่รูปปั้นปู่ฤๅษี ซึ่งอยู่ด้านท้ายของถ้ำ …ตามไปค่ะ

 

รูปปั้น ตา ยาย คือใคร ? ตามตำนานบอกว่า ตากับยายเป็นชาวไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) ที่เป็นแรงงานในการก่อสร้าง (หาบอิฐ แบกปูนลงไปในถ้ำ) ใช้แรงงานแทนภาษีอากร และรัชกาลที่ 4 ได้สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาช่วยสร้างถ้ำแห่งนี้ โดยให้ตากับยายเป็นคนเฝ้าและดูแลถ้ำ

 

 

 

คูหาที่ 5

 

เป็นส่วนต่อเนื่องจากคูหาที่ 4 เป็นบริเวณปลายสุดของถ้ำ ระหว่างทางเดินนั้นมีประติมากรรมรูปปั้นทวารบาล ลักษณะคล้ายซากศพ (รูปปั้นเฝ้าถ้ำ) ตามความเชื่อของคนโบราณ คล้ายกับกรณีการสร้างศาลหลักเมือง (ตามตำนานชาวบ้านเล่าต่อกันมา)

 

 

 

ก่อนที่จะไปสู่จุดท้ายสุดของถ้ำ มีประตูเล็กๆ และด้านขวาของประตูมีหยดน้ำ(คล้ายหยุดน้ำตา?) เป็นลักษณะน้ำซึม หยดน้ำนี้ที่ทำให้เกิดหินงอกใหม่ ดูเสร็จแล้วก็เข้าไปต่อค่ะ ระวัง ! ศีรษะ (บริเวณนี้ค่อยข้างมืด เพราะหลอดไฟเสีย ยังไม่ได้เปลี่ยนใหม่?)

 

 

 

ประติมากรรมรูปปั้นปู่ฤๅษี …ขอโชค ขอลาภ ห้ามขอข้าวเหนียว (ไกด์บอกค่ะ) ถ้าขอแฟนก็ให้ขอตรงนี้ได้เลย ส่วนใครที่มีแฟนแล้วให้กลับไปขอคนที่บ้านก่อน แล้วค่อยมาขอเพิ่ม (ไกด์ว่าอย่างนั้น)

 

 

จุดสุดท้ายแล้วค่ะ ด้านขวา(มองจากด้านหน้าไปด้านท้ายถ้ำ) ถัดจากรูปปั้นปู่ฤๅษี มีบันไดทางขึ้นลงอีกหนึ่งแห่ง โดยไม่เปิดใช้งานในปัจจุบันเนื่องจากชำรุดและมีความชันมาก

 

 

อยากบอกว่า… มรดกล้ำค่าภายในถ้ำเขาหลวงแห่งนี้ยังมีประติมากรรมอีกมากมาย และรอการเยี่ยมเยือนจากนักท่องเที่ยว ลองแวะไปย้อนประวัติศาสตร์อันงดงามดูสักครั้งสิคะ รับรองไม่ผิดหวัง ก่อนกลับบ้านแวะชมพระนครคีรี ซื้อขนมหมอแกงขึ้นชื่อของเมืองเพชรบุรี ไปเป็นของฝากก็ดูดีไม่น้อย แต่ถ้าอยากเที่ยวทะเล ชายหาดชะอำ อยู่ไม่ไกล (จากพระนครคีรี ขับรถประมาณ 40 นาที) หรือจะค้างสักคืนริมหาด ก็ฟินไปอีกแบบ !

 


 

อ้างอิง : หนังสือ “ถ้ำเขาหลวง มรดกล้ำค่าของเพชรบุรี” โดย ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ถ้ำเขาหลวง

ที่อยู่ : ตำบลธงชัย อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี 76000

เวลาเปิดปิด : จันทร์-ศุกร์ 09.00-16.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 09.00-17.00 น.

 

ไม่คิดค่าเข้าชมทั้งคนไทย และคนต่างชาติ แต่จะเสียค่าบริการรถสองแถวพาขึ้นไปบริเวณทางเข้าถ้ำ คนละ 15 บาท (ไป-กลับ) มีน้ำดื่มให้บริการ

 

การเดินทาง :
รถยนต์ส่วนตัว …จากกรุงเทพฯ ผ่านถนนหมายเลข 35 เข้าถนนหมายเลข 4 … จากพระนครคีรี เข้าสู่ถนนคีรีรัฐยา ขับไปอีกประมาณ 2.9 กิโลเมตร (8 นาที)

 

แผนที่จากกูเกิล

 

คลุกคลีอยู่ในวงการสื่อกว่า 26 ปี