อายุ55|พิชิตภู นอนดูดาว บนภูกระดึง

แม้ว่าเรื่องการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงและตกไป ซ้ำไปซ้ำมาหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่คนอยากจะสร้างกระเช้าหยิบยกขึ้นมาอ้าง นั่นคือ เพื่อให้คนแก่และคนพิการสามารถมาเที่ยวบนภูกระดึงได้เหมือนกับคนปกติทั่วๆ ไป

เราอายุ 55 เข้าเกณฑ์วัยชราหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ไม่พิการ เอาน่า ! มีมือมีขาเดินขึ้นอีกครั้งล่ะกัน ลืมบอกไปว่าสมัยหนุ่มๆ เราเคยขึ้นภูกระดึงแล้ว มานอนกางเต้นท์รับลมหนาวบ้าง ตอนเช้าออกไปถ่ายรูปทะเลหมอก ก็สนุกดี แต่มาถึงตอนนี้อายุปาเข้าไป 55 ปีแล้ว ลองลุ้นตัวเองดูว่าจะไหวหรือเปล่า คราวนี้ เราเอาของไปไม่เยอะมาก บางส่วนใช้บริการลูกหาบที่ริมทางขึ้นอุทยานแห่งชาติ

 

ภูกระดึงได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 ของประเทศไทยตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีที่ราบบนยอดภูกระดึงประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร ความสูงอยู่ระหว่าง 400 – 1,200 เมตร จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตรภูกระดึงประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด พันธุ์สัตว์ป่านานาพันธุ์ หน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร และน้ำตก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพองสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปีบนยอดภูกระดึง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิอาจลดต่ำจนถึง 0 องศาเซลเซียส จึงเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาที่หวังจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต

คราวนี้เราเดินทางมาคนเดียว โดยรถทัวร์แล้วต่อสองแถวมายังทางขึ้นภูเและติดต่อฝากของขึ้นข้างบนโดยใช้บริการลูกหาบในราคากิโลกรัมล่ะ30บาท ซึ่งก็สะดวกดีและเป็นการกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่น บางคนบอกว่าใช้เวลาว่างจากฤดูการทำนามารับจ้างแบกของขึ้นภูกระดึง

เดินขึ้นภูคราวนี้เราไม่ได้รีบมากเดินชิลๆแวะถ่ายรูปดอกไม้ต้นไม้ไปเรื่อยๆถือว่าเป็นการพักเหนื่อยในตัว ใช้เวลาไปพักใหญ่ก็ถึงยอดภูจุดที่เราจะกางเต้นท์นอน มาคราวนี้เราเช่าเต้นท์ของอุทยาน ก็สะดวกดีไม่ต้องแบกขึ้นมาให้หนัก หลังจากที่เรา เข้าที่พักไปรับของจากลูกหาบเรียบร้อยแล้ว ก็หาอะไรกิน และไปถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกดิน ตรงจุดเช็คอินที่เห็นกันจนชินตาถ้าใครไม่ถ่ายถือว่ามาไม่ถึงภูกระดึง แต่คราวนี้เรามาคนเดียวไม่มีใครถ่ายให้ และอยากไปหาจุดใหม่ๆสวยเลยเก็บภาพนิดหน่อยแล้วก็ไป


กลางคืนโชคดีมากฝนไม่ตก ท้องฟ้าเปิด ดาวบนฟ้าสวยมาก เสียดายไม่ได้เอาขาตั้งกล้องใหญ่มา แต่เราก็หาทางเก็บภาพดาวที่สวยงามจนได้แม้ไม่ดีมากนัก ระหว่างถ่ายดาวก็มียุงและแมลงมารบกวนบ้าง อีกอย่างที่สำคัญสำหรับน่าฝนคือทาก ซึ่งจะแอบมาดูดเลือดเราโดยที่เราแทบไม่รู้สึกตัวเลย ทางที่ดีควรหายากไปทากันไว้ก่อนก็ดี

ในช่วงฤดูฝน มักเกิดภัยธรรมชาติ เช่น เกิดการพังทะลายของภูเขาและมีน้ำป่า ทางอุทยานแห่งชาติจึงกำหนดให้ปิด-เปิดการท่องเที่ยวเฉพาะบนยอดเขาภูกระดึง
เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และให้สภาพธรรมชาติและสภาพแวดล้อมได้มีการพักฟื้นตัว

กำหนดการปิด (ข้อมูลจากเว็บไซต์กลางสำนักอุทยานแห่งชาติ )

ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน ของทุกปี

เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 พฤษภาคม ของทุกปี

เสน่ห์ของการเดินเท้าขึ้นภูกระดึงคือการเดินขึ้นที่สูงวัดใจของเราว่ามีความมุ่งมั่นขนาดไหน การได้ทักทายเพื่อนร่วมาทางที่นั่งพักให้หายเหนื่อยอยู่ริมทางหรือบางครั้งมีการแบ่งปันน้ำดื่มและของกิน ยิ้มแย้มให้กัน แม้ว่าการขึ้นลงครั้งนี้จะเล่นเอาเหนื่อยพอดู แต่เราสัญญากับตัวเองว่านี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะพิชิตยอดภูกระดึงด้วยการเดิน

 

นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าไปท่องเที่ยวและพักแรมบนยอดภูกระดึง ขอให้ติดต่อ สอบถาม หรือสำรองการเข้าไปใช้บริการล่วงหน้า ทั้งที่พักประเภทเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติและพื้นที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเองตามแผนผังจุดพักแรม ก่อนเดินทาง ได้โดยตรง ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โทรศัพท์หมายเลข 0-4281-0833 และหมายเลข 0-4281-0834 (ในเวลาราชการ)

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท

หากใครมีโอกาส มีเวลา ลองแวะไปค้นหาความท้าทายโดยการเดินเท้าพิชิตภูกระดึงดูสักครั้งก่อนที่จะมีความเจริญเข้ามา เชื่อว่าความสุขที่ได้รับจากยอดภูจะทำให้ลืมความเหนื่อยล้า …ลองดูครับ

 

—————————–

เรื่องและภาพโดย : วิชิต ก้องเสียงสังข์ อดีตช่างภาพอาวุโส เครือเนชั่นกรุ๊ป

ผู้ชายหมายเลข7 มองโลกผ่านวิวไฟน์เดอร์ เจ้าของผลงานช่างภาพข่าวยอดเยี่ยม3รางวัล คลุกคลีกับวงการสื่อมามากกว่า30ปี