พิธีแห่นาคโหดของวัดตาแขก บ้านโนนเสลา อำเภอภูเขียว เป็นประเพณีที่สร้างความ “หวาดเสียว” “สนุกสนาน” และ “ท้าทาย” ความรู้สึกของคนร่วมงาน ทำให้ทุกเดือน6หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของช่างภาพฝีมือดีและผู้คนจำนวนมากทุกๆปี
หลายคนบอกว่าพิธีแห่นาคโหดนี้มีมานานกว่า100ปีแล้ว
แต่บางคนบอกว่ามีมาไม่เกิน 50 ปี เริ่มจากในหมู่บ้านโนนเสลามีนักเลงโบราณ (นักเลงโบราณเป็นคนจิตใจกว้างขวาง ชอบช่วยเหลือคนอื่นและพูดจริงทำจริง) และด้วยความเป็นนักเลงโบราณนั้นเองที่ทำให้เขากลายเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆและคนในหมู่บ้าน ครั้นมีอายุครบบวช นักเลงโบราณคนนี้ก็เข้าพิธีบวชนาคตามประเพณี แต่เนื่องจากเป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหมู่บ้าน จึงมีผู้คนที่รักใคร่ชอบพอเข้าร่วมพิธีแห่นาคมากกว่าใครในการบวชร่วมกัน
นาคของหมู่บ้านโนนเสลาแต่ไหนแต่ไรมาก็ใช้แห่ด้วยแคร่แคร่ที่มีคนหามข้างละหลายๆคนเพื่อช่วยกันแชร์น้ำหนัก
ตามธรรมเนียมของการแห่นาคย่อมมีการโปรยทาน ซึ่งสิ่งของที่โปรยทานนั้นมักจะเป็นทอฟฟี่หรือไม่ก็เศษสตางค์ให้แก่คนที่มาร่วมงาน เชื่อกันว่าใครเก็บเงินเหรียญหรือทอฟฟี่ได้ก็ถือว่าโชคดี!
ระหว่างที่หามนาคไปรอบหมู่บ้านก็มีการโยกแคร่กันเล็กน้อยเพื่อความคึกครื้นโยกไปโยกมาก็แรงขึ้นเรื่อยๆนาคท้าทายว่าถ้าคนหามว่าถ้าโยกไม่แรงก็จะไม่โปรยทานให้คนที่มาร่วมงานคนแห่นาคซึ่งเป็นเพื่อนกันก็เลยโยนนาคเสียเต็มที่แต่ก็เป็นไปอย่างสนุกสนานเป็นที่ประทับใจกันทั้งหมู่บ้าน
อีกปีหนึ่ง คู่หูของนาคองค์แรกที่ถูกโยนก็เข้าพิธีบวชเหมือนๆกัน เพื่อนก็โยนนาคด้วยวิธีเดียวกันจนลายมาเป็นแห่นาคโหดกันมาจนถึงปัจจุบัน
อีกตำนานหนึ่งก็ว่าพิธีนี้ทำกันมากว่า100 ปีแล้ว โดยมีพิธีแห่นาครวมหมู่และใช้คานหามแบบเดียวกัน ส่วนการโยนนาคเป็นการทดสอบความตั้งใจนาคว่าตั้งใจบวชทดแทนคุณบิดามารดาหรือไม่ หากนาคจะตกลงมาจากแคร่ไม่ได้ถือว่าหมดคุณสมบัติที่จะบวช ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีใครตกลงมาเลยเพราะญาติพี่น้องโดยเฉพาะพ่อที่เดินตามแคร่จะคอยประคองไม่ให้ลูกตกเลย
การแห่ก็จะเริ่มประมาณบ่ายโมงแห่ไปโยนไปบนระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรรอบหมู่บ้าน แถมรอบโบสถ์อีก 3 รอบ กว่าจะเสร็จสิ้นนาคก็หมดแรงคนหามก็หมดแรง
แห่นาคโหดเริ่มมาเป็นที่รู้จักของผู้คนก็เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาเมื่อททท.นครราชสีมาพานักข่าวมาทำข่าวโปรโมทการท่องเที่ยวจนกลายเป็นประเพณีฮิตของอีสานพอๆกับบั้งไฟตะไล บั้งไฟหางและผีตาโขนที่มีลีลาเต้นและเพนท์หน้ากากสวยงาม
ภาพและเรื่องโดย จำลอง บุญสอง