ควันหลงจากงานเสวนพิเศษรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด หัวข้อ “จากนวนิยายรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด สู่ละครดัง” โดยนักเขียนชื่อดังที่สร้างปรากฏการณ์แห่งยุค
เหตุผลที่นวนิยายถูกนำมาใช้ในการสร้างสรรค์เป็นละคร

กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นักเขียนรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 5 จากผลงานนวนิยายเรื่อง “ยิ่งฟ้ามหานที”
ให้ความเห็นว่า แต่ละช่องจะมองในด้านธุรกิจเป็นอันดับแรก ซึ่งการมองด้านธุรกิจนั้น ย่อมมีข้อมูลในเรื่องของกระแสสังคมว่าเป็นอย่างไร สภาพบริบทรอบๆ เป็นอย่างไร เนื่องจาก ปัจจุบันการทำละครของบ้านเราจะเป็นเรื่องของความสนุก สนาน เฮฮา แต่เมื่อคิดในเรื่องของการลงทุนแล้ว กำไรขาดทุนเป็นอันดับแรก ที่ต้องเลือก และเพื่อที่จะให้มีโฆษณาเข้า หรือด้วยปัจจัยอื่นๆ ก็จะเป็นที่มาของการเพิ่มเนื้อหาในแต่ละตอนของนักประพันธ์ต่างๆ เพื่อให้มีเหตุการณ์ที่เหมาะสมกับบทโทรทัศน์ (เพราะหนังสือบางเรื่องเล่มนิดเดียว เนื้อหาน้อยเกินไป)
อีกทั้ง ในสังคมของเราทุกวันนี้ บางเรื่อง บางราว จะเสนอตรงๆ ไม่ได้ ฉะนั้นการทำงานวรรณกรรม ตั้งแต่ยุคโน้น มาถึงยุคนี้ จะเป็นไปตามบริบทของสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย สมัยไหน สังคมเป็นอย่างไร งานเขียนก็ออกมาอย่างนั้น เพราะนักเขียนจะเป็นคนสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้คน สะท้อนเรื่องราวปัญหาของสังคม และบางทีก็ชี้นำอีกด้วย ครั้นมาถึงปัจจุบัน งานเขียนเหล่านั้นได้ลดน้อยลงไป เพราะขายไม่ออก คนไม่ค่อยอ่าน ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ที่แน่ๆ คือคนอ่านชอบอ่านเรื่องสนุกๆ
ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่า บางทีนักเขียนได้ซ่อนนัยยะไว้ในแต่ละงานเขียน และเป็นหน้าที่ของคนอ่านเองที่จะต้องตีความให้ได้ว่าแต่ละเรื่องแฝงนัยยะอะไร ซ่อนประเด็นอะไรไว้ หมายรวมไปถึงอะไร ซึ่งการตีความของแต่ละคนจะแตกต่างกัน และการตีความนั้นมีความสำคัญในยุคปัจจุบัน ที่เราจะต้องตีความให้ได้ว่านักเขียนต้องการให้อะไร อ่านแล้วได้อะไร ไม่ใช่แค่เรื่องสนุกอย่างเดียว
เหตุผลที่ส่งหนังสือเข้าประกวดรางวัลเซเว่นอวอร์ด
จันทร์ยวีร์ สมปรีดา (รอมแพง) นักเขียนรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 7 จากผลงานนวนิยายเรื่อง “บุพเพสันนิวาส”
เหตุผลที่ส่งเข้าประกวดก็คือ หากหนังสือได้รางวัลก็จะทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น และเมื่อถูกเผยแพร่ในสื่อต่างๆ คนอ่านจะชื่นชอบ การตอบรับจะมีมากขึ้น ส่งผลดีถึงยอดตีพิมพ์หนังสือ (พิมพ์เพิ่ม)
ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ (ปราปต์) นักเขียนรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 12 จากผลงานนวนิยายเรื่อง “กาหลมหรทึก”
มองเวทีการประกวด เหมือนกับรอมแพง แต่จะเพิ่มเติมในเรื่องการเงิน เพราะว่าการเป็นนักเขียนเต็มเวลา งานเขียนจะออกมาดีได้ ต้องมีปัจจัยต่างๆ สนับสนุน โดยเฉพาะถ้ามีเงินทุนสักก้อน ก็จะทำให้งานเขียนไม่ติดขัด และสามารถสร้างผลงานดีๆ ขึ้นมาอีก
เทคนิคการเขียนนวนิยาย
“กนกวลี” บอกว่า การจะเริ่มต้นเขียนนวนิยายสักเรื่อง อันดับแรก ต้องมีแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ที่มากระแทกใจ แล้วอยากเขียน นั่นแหละคือแรงผลักอย่างดีในการอยากเขียน
อันดับต่อมาคือคิดพล็อต พล็อกก็คือโครงเรื่องทั้งหมด หมายความว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นอย่างไร ใครทำอะไร ดำเนินไปอย่างไร จบยังไง และในระหว่างคิดพล็อตนั้น ตัวละครก็จะตามมา ฉากก็จะมา และธีมของเรื่อง กรอบของเรื่อง ใจความสำคัญของเรื่อง จะมาพร้อมกัน เมื่อมีองค์ประกอบพร้อมแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของการหาข้อมูลมาประกอบการเขีย และเมื่อเขียนจบ ก็จะเป็นเรื่องของการทบทวนแก้ไข
แต่ในความเป็นนักเขียนนั้น เทคนิคสำคัญที่สุดอยู่ที่หัวใจของนักเขียนเองว่า เปิดใจรับอะไรบ้าง ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จากหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษมาเป็นดิจิตอล ฉะนั้นจะต้องเปิดใจใหม่ เปิดใจให้กว้าง ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังมา เปิดใจให้กว้างว่าจะต้องพัฒนาการเขียนอย่างไร จนกระทั่งเห็นความแตกต่างของการเขียนว่าไม่ได้มีแบบเดียว ไม่ใช่ฉันทำแต่เรื่องนี้ แล้วก็ชื่นชมกับความเป็นตัวฉันเองมาก แต่คนอื่นทำงานอย่างอื่นก็ไปว่าเขาว่าไม่ดี
ดังนั้น ต้องเปิดใจรับได้ว่างานเขียนมีหลายแบบ เช่นเดียวกับคนอ่านก็มีหลายแบบ การเปิดใจรับจึงสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้งานของเรามีคุณค่า มีความหมาย …เปิดใจรับการพัฒนาตัวเอง เปิดใจรับความมุ่งมั่นในตัวเองที่จะทำงานใหม่ขึ้นมา แล้วงานที่เราเขียนก็จะมีพลังของวรรณกรรมเกิดขึ้นมา
การเปิดใจนั้น พูดง่าย แต่ทำยาก วิธีที่จะทำให้เปิดใจได้ก็คือ ต้องเปิดหู และเปิดตาตัวเอง ฟังคนอื่นมากๆ ดูคนอื่นเยอะๆ (ฟังให้เยอะ ดูให้เยอะ) เมื่อไรก็ตามที่ตาเปิด หูเปิด ใจก็จะเปิด
“รอมแพง” บอกว่า สำหรับคนที่ไม่เป็นนักเขียน และอยากเป็นนักเขียน อยากให้อ่านเยอะๆ และน่าจะมีหนังสือที่เรียกว่าคลังคำไว้กับตัว เมื่อเกิดความติดขัดในคำ ความหมาย หรือการกระทำของตัวละคร เราจะสามารถมาเปิดดูว่าจะใช้ศัพท์อะไรได้บ้างที่เหมาะสมกับแนวเรื่องที่เขียน เพราะว่าแนวปกติธรรมดา กับแนวพีเรียดจะมีสำนวนที่แตกต่างกันอยู่ ซึ่งการมีหนังสือคลังคำอยู่กับตัวจะทำให้งานเขียนง่ายขึ้น
นอกจากนั้นจะต้องออกไปพบปะผู้คน เจอประสบการณ์ต่างๆ เพื่อที่จะได้แยกแยะนิสัยของตัวละครแต่ละตัวได้ เพราะเราไม่สามารถมองคนแค่คนเดียวแล้วเอามาแยกเป็นนางร้าย พระเอก นางเอก หรืออะไรก็ได้ แต่เราสามารถแยกแยะด้วยการดู หรือการมอง เช่น ออกไปดูภาพยนตร์ หรือไปท่องเที่ยว ซึ่งสำคัญกับการเขียนเหมือนกัน
“ปราปต์” บอกว่า เพิ่มเติมจากทั้ง 2 ท่าน แต่สำหรับตัวเองแล้ว เทคนิคสำคัญอย่างเดียวเลยคือ ตัวเราเองต้องรู้สึกกับงานเขียนก่อน ถ้าเรารู้สึกว่างานที่เขียนอยู่สนุก คนอ่านก็จะสนุกไปกับเราด้วย ถ้าเรารักในสิ่งที่เราทำ เดี๋ยวก็จะมีคนรักเหมือนกันนั่นแหละ
ถ้าไม่อยากเป็นนักเขียนใส้แห้ง ที่ผลงานไม่เข้าสายตา ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ดูนะคะ